posttoday

ป.ป.ช.เผยมีคนร้องทุจริตแก้โควิดแล้ว 23 เรื่อง ทั้งหักหัวคิว-ซื้อของแพงเกินจริง

15 มิถุนายน 2563

ป.ป.ช.เผยมีข้อร้องเรียนทุจริตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิด 23 เรื่อง พบรูปแบบทุจริตมีทั้ง หักหัวคิว มีประโยชน์ทับซ้อน ซื้อสินค้าไม่มีคุณภาพ ราคาแพงเกินจริง

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการตรวจสอบเงินกู้ 4 แสนล้าน-เงินสะสมท้องถิ่นว่า ขณะนี้มีข้อร้องเรียนทุจริตเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโควิด-19 แล้วจำนวน 23 เรื่อง ซึ่งมาจากส่วนกลางมากสุด 10 เรื่อง รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 เรื่อง ภาคหนือ 3 เรื่อง และภาคใต้ 3 เรื่อง

ในจำนวนนี้ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว 1 เรื่อง โดยรูปแบบทุจริตส่วนใหญ่ ได้แก่ จัดซื้อสินค้าไม่มีคุณภาพ จัดซื้อสินค้าราคาแพงเกินจริง มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการเก็บค่านายหน้า ซึ่งต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง และยอมรับว่าทุกวันนี้ หน้ากากอนามัยราคาชิ้นละ 2.50 บาทยังไม่ได้หาซื้อกันได้ง่ายๆ

"เรื่องร้องเรียน มีทั้งเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ ทั้งในแง่รายการสินค้าและตัวบุคคล ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ถือเป็นเรื่องนโยบายสำคัญ" นายวรวิทย์ กล่าว

เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ได้ทยอยจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และหากมีข้อร้องเรียนจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบทันที ซึ่งล่าสุดมีหน่วยงานเสนอของบมากกว่า 3 หมื่นโครงการ คิดเป็นเงินราว 8 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่างบที่มีอยู่ถึงเท่าตัว โดยก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย.62 ป.ป.ช.ได้เคยให้คำแนะนำรัฐบาลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตในเชิงนโยบาย

ส่วนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรนั้น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว กรณีนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตร เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน และภาคประชาชนช่วยกันตรวจสอบดูแล ซึ่งหากมีการทำเว็บไซต์ที่นำเสนอข้อมูลทุกโครงการจะช่วยให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น

ด้านนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบจะเทียบเคียงโมเดลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มาใช้ เช่น การเว้นระยะห่าง ก็คือการดูแลไม่ให้เกิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน, การควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ คือ จะมีหน่วย strong ที่ทำงานเหมือน อสม. แต่การทุจริตไม่ใช่เชื้อโรคที่ใช้ยารักษาหาย แต่เป็นเรื่องจิตสำนึก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากเกิดทุจริตโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่ผ่านมา เพราะ ป.ป.ช.มีความพร้อมในการตรวจสอบ และมีบทเรียนจากการตรวจสอบโครงการมิยาซาวา หรือโครงการไทยเข้มแข็งมาก่อนหน้านี้แล้ว

"คงรับปากไม่ได้ ว่าจะไม่เกิดทุจริต แต่กฎหมายให้มีกรอบเวลาทำงานรวดเร็ว ขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของ ป.ป.ช. ขอให้ช่วยกันชี้ช่องและเบาะแส จะช่วยทำงานรวดเร็วขึ้น" นายอุทิศ กล่าว

นายนิวัติไชย แก้วมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อร้องเรียนทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ซึ่งหากพบว่าข้อกล่าวหามีมูล จะสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และคาดว่าจะสามารถชี้มูลความผิดทุกเรื่องได้ภายในปีนี้

ส่วนการบริจาคให้ส่วนราชการนั้น มีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน ต้องไม่ทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับกฎหมาย ป.ป.ช.แล้ว