posttoday

ครป.มองวันเฉลิมถูกอุ้มหายตัวเป็นอาชญากรรมมนุษยชาติ

06 มิถุนายน 2563

เลขาครป.มอง"วันเฉลิมถูกอุ้ม"เป็นอาชญากรรมมนุษยชาติ จี้เร่งผลักดันร่างกม.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยที่ลี้ภัยอยู่ที่กัมพูชา ถูกอุ้มหายไปในกรุงพนมเปญ เห็นว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครอง ยิ่งอุ้มหายกลางเมืองหลวง รัฐบาลกัมพูชาต้องตรวจสอบและรับผิดชอบคดีดังกล่าว

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลไทยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามคดีและความคืบหน้า รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อสืบหาตัวนายวันเฉลิมโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือกัมพูชาจะต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่อำนาจนอกระบบกฎหมายขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายวันเฉลิมโดยทันทีอย่าใช้กระบวนการศาลเตี้ย

บทเรียนการคุกคามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เต็มไปด้วยความรุนแรงและถึงแก่ชีวิต โดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐในการลอบสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ประชาคมและรัฐบาลอาเซียนจะต้องร่วมมือกันสอบสวนและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าให้ผู้นำรัฐบาลเอาประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตัว เราผ่านยุคสงครามอินโดจีนมานานมากแล้วจนมีสันติภาพและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามและให้สัตยาบันผูกพันกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนไปแล้วถึง 8-9 ฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) จะต้องดำเนินการตรวจสอบแก้ไขและยับยั้งเรื่องนี้โดยเร็ว ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะต้องเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเร็วที่สุด หลังจากประเทศไทยได้รับรองเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สัตยาบัน (Ratify) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) รวมถึงการให้สัตยาบันว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงข้ามชาติ และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) ที่เกิดขึ้นเพื่อการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ