posttoday

ถกเงินกู้วันที่สี่ “ฝ่ายค้าน” ชี้ เงื่อนไขซอฟท์โลนไม่ครอบคลุม

30 พฤษภาคม 2563

“ยุทธพงษ์” ปูดเงินกู้ 4 แสนล้าน มท.ร่อนหนังสือถึงท้องถิ่น-ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศรีบเสนอโครงการภายใน 5 มิ.ย. “ธีรัจชัย” กางเงื่อนไขเอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่ ไม่ได้ช่วยเหลือ SME ด้าน “วิรไท” ยัน เอาผิดคนปล่อยต่อสินเชื่อ ขอส.ส.ส่งข้อมูล

เมื่อว้นที่ 30 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน1.9 ล้านล้านบาทเป็นวันที่ 4 โดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายว่า พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท หรือเรียกว่าซื้อหุ้นกู้ด้วยการออกพันธบัตรให้ประชาชนหรือเอกชนซื้อ ปกติการปล่อยหุ้นกู้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเพียงหนังสือยืนยันการซื้อหุ้นกู้ แต่ครั้งนี้ตนอยากเสนอให้คณะรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับการซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชน ออกเงื่อนไขให้มีหลักเกณฑ์ค้ำประกัน 30 – 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อกันพลาด ป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย เพราะถ้าพลาด ผู้ที่อนุมัติจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย เราต้องไม่ลืมว่า หนี้ที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ของแผ่นดิน ขอให้รัฐบาลควบคุม กำกับ ติดตามว่า หุ้นกู้ดังกล่าวจะพลาดไม่ได้ ถ้าพลาดติดคุก

ด้านนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สนับสนุนรัฐบาลให้เร่งดำเนินการให้เงินถึงมือประชาชนโดยเร็ว ในส่วนของเงิน 4 แสนล้านบาทที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้สำนักงบประมาณให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแม่บ้านดูแลเงินจำนวนนี้ โดยเน้น 4 ด้านคือ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจชุมชน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตนมีข้อสังเกตว่า การเสนอโครงการเพื่อพิจารณานั้นมีความเร่งรีบเกินไปหรือไม่ เนื่องจากมีหนังสือจากกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งถึงท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้รีบเสนอโครงการภายในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งจะทำให้ขาดความรอบคอบในการใช้จ่ายเงินหรือไม่ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เงิน 4 แสนล้านบาทเป็นเงินก้อนสุดท้าย เราจะกู้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะกู้ชนเพดานแล้ว

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจเอสเอ็มอีด้วยมาตรการซอฟท์โลน หรือมาตรการดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งระบุเงื่อนไขวงเงินสินเชื่อต้องไม่เกิน 500 ล้านบาท ในส่วนของธุรกิจโรงแรมนั้นมูลค่าเกิน 500 ล้านบาทแทบทั้งสิ้น จึงไม่เข้าเงื่อนไข ทำให้ไม่ได้รับการช่วยเหลือ แทนที่จะลดต้นลดดอก กลับเอาหนี้ไปให้เขากู้เพิ่ม ส่วนดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีโดยไม่เรียกเก็บจากผู้กู้เป็นเวลา 6 เดือนนั้นธนาคารก็ไม่อยากปล่อยกู้ เพราะดอกเบี้ยต่ำ ไม่คุ้มค่า อีกทั้งการกำหนดว่าให้ชำระภายใน 2 ปีนั้น จะกลายเป็นภาระของธนาคารที่ปล่อยกู้ เพราะหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะทำอย่างไร ทั้งนี้ รัฐบาลต้องระวังการใช้จ่ายเงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพราะเป็นเงินรอบสุดท้ายแล้ว กู้มากกว่านี้ไม่ได้แล้ว จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ การช่วยเหลือไม่ได้ไปถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME อย่างแท้จริง หาก SME ล้มไป หมายความว่าจะสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยพ แรงงานอย่างน้อย 12 ล้านคนจะต้องตกงาน ตนเห็นว่า พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สามารถเบี่ยงเบนไปเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยกู้สถาบันทางการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01  และให้สถาบันการเงินปล่อยกู้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือน และให้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินเชื้อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ทำให้กลุ่ม SME ได้รับประโยชน์หรือเข้าถึงน้อยมาก ผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริงคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะบริษัทไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่สามารถกู้ได้ทั้งหมด หากมีหนี้สินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง โดยธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้ตามอำเภอใจ เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการสมคบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มที่เป็น SME จริงๆ

นายธีรัจชัย อภิปรายว่า ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้กู้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น กรณีที่ไม่มีเงินกู้ ไม่มีหลักประกัน และกรณีเป็นหนี้เสีย ไม่เข้าข่ายได้รับสินเชื่อ SME ทั้งหมด 3 ล้านราย มีสินเชื่อกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์เพียง 1.9 ล้านราย แต่อีก 1.1 ล้านราย ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ และยังให้ใช้หลักเกณฑ์ว่าต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงทำให้เหลือ SME เพียงไม่กี่รายที่มีโอกาสได้รับสินเชื่อ ยิ่งถ้าเป็นหนี้เสีย ก็จะถูกตัดออกจากระบบตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นมีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อชั้นดีเท่านั้น ที่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะกลุ่มอื่นถูกตัดขาดหมด ซึ่งธนาคารมีจุดยืนเพื่อกำไรสูงสุด ดังนั้นการจะให้กู้ก็จะต้องเลือกลูกหนี้ชั้นดี เลือกลูกหนี้ที่มีหลักประกัน

นายธีรัจชัย กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่ม SME อย่างแท้จริง แต่เหมือนรัฐบาลจะรู้ว่าจะมีการอภิปรายเรื่องนี้ จนวันอังคารที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติเพิ่มช่วยเหลือ SME จัดสรรวงเงินเพิ่มเติม 10,000 ล้านล้านบาท ให้กรณีที่ไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีหนี้เสีย สามารถกู้ได้ แต่ก็ยังคงเงื่อนไขเดิมไว้ซึ่งทำให้เอื้อกลุ่มทุนใหญ่อยู่ดี ทำให้ผู้ประกอบการ SME 3 ล้านราย เสี่ยงล้มไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย คนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน มีผลกระทบเป็นลูกโซ่เพราะผลกระทบจากรัฐบาล ที่ยึดถือเพียงมาตรการสาธารณสุข แต่ลืมมาตรการทางเศรษฐกิจ เกิดการยึดทรัพย์โดยธนาคาร ทำให้นายทุนรายใหญ่มาช้อนซื้อสินทรัพย์ดีๆ ในราคาถูก สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดเพิ่มขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบให้กลุ่มทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น กำหนดราคาสินค้า ผูกขาดตลาดในอนาคต ทำให้คนรวยไม่กี่ตระกูลของประเทศกำหนดอะไรก็ได้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ จึงไม่สามารถช่วยเหลือ SME ได้ มีแต่ซ้ำเติมให้หายไป จึงขอให้รัฐบาลทบทวนใส่ใจประชาชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำลาย SME และทำร้ายประชาชนไม่น้อยกว่า 29 ล้านคน จึงขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องเหล่านี้

นายจุติ ไกลฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชี้แจงว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการต่างๆ โดยรอบครอบ  ไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อกลุ่มทุน แต่มีหัวใจเพื่อดูแลคนตัวเล็ก ข้อมูลที่อภิปรายเป็นประโยชน์ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลพิจารรารายละเอียดรอบครอบ ขอประชาชนวางใจ ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจลดเหลื่อมล้ำ ให้เงินถึงประชาชนและ SME ระดับล่างมากที่สุด แม้ดูตามหลักเกณฑ์แปลไปได้ว่าเอื้อกลุ่มทุน แต่คณะรัฐมนตรียืนยันว่า เรื่องต้องไม่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่ละเลย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อประเด็นอภิปรายของส.ส.ที่ระบุว่า พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีช่องว่างที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อ ว่า หากข้อมูลตามที่อภิปรายขอให้แจ้งข้อมูลต่อ ธปท. เพื่อให้ธปท. รีบดำเนินการสอบสวน และหากผลความผิดจะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ เพราะถือว่าทำผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย สำหรับการกำหนดเงื่อนไขการชำระดอกเบี้ยให้กับการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ถูกทักท้วงนั้น ข้อเท็จจริงคือ การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ต้องแบกรับความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่แน่นอน อีกทั้งสถาบันการเงินมีต้นทุนค่าประกอบการด้วย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ล่าช้านั้น เป็นเพราะสถาบันการเงินต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และมาตรการการทำงานอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การพิจารณาต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งแต่ละสถาบันการเงินนั้นมีคำนิยามว่าด้วยเอสเอ็มอีแตกต่างกันมีการพิจารณาอนุมัติต่างกัน

“การปล่อยสินเชื่อ ช่วง1เดือนที่ผ่านมา ปล่อยแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งธปท. ไม่คาดหวังว่าการปล่อยซอฟท์โลนจะออกหมดตามวงเงิน เพราะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดที่สร้างผลกระทบด้วย แต่เจตนาสำคัญ?เพื่อช่วยเยียวยากลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีช่วงระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาวะการเงินไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวให้กับเข้าโลกวิถีใหม่ ไม่ใช่มุ่งใส่เงินเท่านั้น เพราะหากอนาคตไม่ปรับตัว และใช้เงินเป็นตัวนำ อาจทำให้มีมูลค่าหนี้สูงขึ้น และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ซอฟท์โลนเป็นเพียงกลไกในหลายมาตรการของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้,?พักชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือ ตาม พ.ร.ก.นั้น พบว่ามีกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีเงินลงทุน 500 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านรายได้รับอานิสงส์ และไม่เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่กู้เงินในนามผู้ประกอบการเพื่อทำธุรกิจด้วย ทั้งนี้ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท นั้นไม่ควรเรียกว่าเป็นพ.ร.ก.กู้เงิน เพราะเป็นเพียงกลไกเพื่อใช้รักษาสภาพคล่องของธปท.?ต่อการปล่อยให้สถาบันการเงิน เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อครบกำหนดสถาบันการเงินต้องนำเงินมาจ่ายคืนให้ ธปท. ซึ่งไม่นับว่าเป็นหนี้สาธารณะ และไม่สร้างภาระคนรุ่นต่อไป

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 วงเงิน 5แสนล้านบาท แต่แม้ตัวพ.ร.ก.มีเจตนาดี แต่ถ้าขั้นตอนไม่รัดกุม จะเกิดปัญหาฝนตกไม่ทั่วฟ้า แบ่งคนเป็น 2กลุ่มคือ คนอยากไม่ได้ กับคนได้ไม่อยาก โดยเฉพาะกลุ่มคนได้ไม่อยาก เนื่องจากพ.ร.ก.กำหนดให้ผู้ประกอบการแต่ละรายที่มีสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งสูงถึง 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อจากพ.ร.ก.ตัวนี้ได้ ในเมืองไทยมีธนาคารพาณิชย์ 20แห่ง ถ้าคูณกันแล้วจะมีวงเงินกู้ระดับ10,000 ล้านบาท แปลว่าพ.ร.ก.ตัวนี้ให้โอกาสคนตัวใหญ่ระดับหมื่นล้านใช้สิทธิซอล์ฟโลนนี้ได้  ประกอบกับมาตรา11 พ.ร.ก.ฉบับนี้ระบุว่า ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ ให้ธนาคารร่วมแบกรับความเสี่ยงด้วยร้อยละ30-40 ดังนั้นธนาคารจึงเอาเงินไปเสนอแต่เฉพาะลูกค้าชั้นดี ที่มั่นใจว่ามีเงินคืนแน่นอน  ไม่ปล่อยกู้ให้รายเล็ก  เมื่อลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีได้ซอล์ฟโลนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นใครๆก็กู้  แต่กู้มาแล้ว ไม่เอาไปใช้ให้เกิดระบบหมุนเวียน จ้างงาน แต่เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ดอกเบี้ย 3% ทำกำไร หรือปล่อยกู้นอกระบบให้เอสเอ็มอีเล็กๆที่เข้าไม่ถึงพ.ร.ก.ตัวนี้กู้ ฟันกำไร 20-50% นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น  แม้ผู้ว่าธปท.ระบุว่า หากพบหลักฐาน ใครเอาเงินไปใช้ผิดวิธีให้แจ้งมานั้น ในหลักการธุรกิจเมื่อให้เงินบริษัทไปแล้ว บริษัทจะเอาเงินไปทำอะไร อยู่นอกเหนืออำนาจที่ธปท.จะตรวจสอบ ประเด็นอยู่ที่จะทำอย่างไร ให้คนตัวเล็กได้รับเงินกู้ด้วย

นายอิสระกล่าวว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ มีวงเงิน 5แสนล้านบาท นับตั้งแต่ใช้พ.ร.ก.ตัวนี้มา 1 เดือนกว่า เพิ่งใช้เงินไป 58,000 ล้านบาท ถือว่าน้อยมาก ขณะที่ความเดือดร้อนของเอสเอ็มอีมีทุกหย่อมหญ้า ธปท.ยอมรับว่า ใช้ไปต่ำกว่าที่คาดหวัง แลวงเงิน 58,000 ล้านบาทที่กู้ไปนั้น มีคนตัวเล็กที่มีสินเชื่อกับธนาคาร 0-20 ล้านบาท ได้กู้เงินก้อนนี้เพียง 13,000 ล้านบาท ขณะที่คนตัวใหญ่ที่มีสินเชื่อกับธนาคาร 20-500 ล้านบาท ได้เงินกู้ตัวนี้ 44,000 กว่าล้านบาท คิดเป็น 80% ที่คนตัวใหญ่ได้เงินไป   ถ้าปล่อยให้เป็นสภาพแบบนี้ต่อไป แปลว่า วงเงิน 5แสนล้านของพ.ร.ก.ฉบับนี้ จะถูกเศรษฐีนำไปใช้ 80%  ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี รมว.คลัง และธปท.ควรให้คนตัวเล็กที่ฟุบอยู่ได้ฟื้น รัฐบาลจะได้พ้นข้อครหาอุ้มคนรวยอวยเศรษฐี รัฐบาลมีบทเรียนจากการเยียวยาที่ตกหล่นของกระทรวงการคลังไม่น่าประทับใจ อย่าให้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่นานซ้ำรอยอีก