posttoday

ศบค.ตั้ง "วิษณุ" ศึกษา เลิก พรก.ฉุกเฉินหลัง 1 ก.ค.

29 พฤษภาคม 2563

นายกฯ ประชุม ศบค. พิจารณาการผ่อนปรนระยะที่ 3 ย้ำขอให้ยึดมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ขอให้เข้าใจขยายพรก.ฉุกเฉิน ตั้ง "วิษณุ" เป็น ประธานคณะกรรมการศึกษากรณีเลิก พรก.ฉุกเฉินหลัง 1 ก.ค.

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยนายกฯกล่าวถึงการพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ขอให้ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และเมื่อประกาศมาตรการผ่อนคลายแล้วขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจวิธีคิด เหตุผลในการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมใดๆ และมาตรการบริหารในพื้นที่ ตลอดจนตรวจติดตาม และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ในส่วนของการเตรียมการเปิดสถานศึกษา ต้องพิจารณา ความพร้อมในทุกด้าน บุคลากรครู และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้พร้อม ส่วนระบบการเรียนออนไลน์ก็จะเป็นการใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาส พัฒนาการเรียนออนไลน์สำหรับพื้นที่ห่างไกล จุดเปราะบาง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองกับชนบท

ทั้งนี้ นายกฯระบุว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงเจตนาของการขยาย พรก. ฉุกเฉินฯ รัฐบาลทำเพื่อให้การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมของ ศบค. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเอกภาพ หากสถานการณ์ดีขึ้นในระยะ 4 อาจจะมีการพิจารณายกเลิก พรก. ฉุกเฉินฯ อย่างไรก็ดี ยังมีความจำเป็นต้องคง พรก. ฉุกเฉิน ไว้ เพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินมาตรการต่ออย่างราบรื่น เพื่อให้ควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้ ดำเนินมาตรการรองรับในขั้นตอนต่อๆไปได้ เช่น การใช้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ

จากนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ ได้รายงานผลการดำเนินการ โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ได้รายงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ว่าจำนวนผู้ป่วยในไทยมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ จำนวนผู้ป่วยตอนนี้มาจากต่างประเทศ ขณะที่การแพร่ระบาดในประเทศลดลง ส่วนสถานการณ์โลกยังคงน่าเป็นห่วงในหลายประเทศ เช่น บราซิล สหรัฐฯ รัสเซีย อินเดีย และชิลี ขณะเดียวกัน สธ.ได้สำรวจพฤติกรรมการป้องกันของประชาชน พบว่าพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นการใส่หน้ากากที่ประชาชนยังให้ความสำคัญ ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนเดินทางออกนอกจังหวัดถึง 26% และมีกิจกรรมในการพบปะรวมกลุ่มกันมากขึ้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีคนไทย 11%ไปร่วมกิจกรรมทางสังคม ทั้งนี้ ว่าคนส่วนใหญ่จะยังคงเดินทางไปแค่สถานที่ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประชำวัน ได้แก่ ตลาดสด ซุเปอร์มาร์เก็ต ที่ทำงาน สถานพยาบาล ร้านอาหาร และร้านตัดผม

และจากการสำรวจพบว่า การจัดมาตรการป้องกันของแต่ละสถานที่ยังทำได้ไม่ดี ควบคุมได้เพียง 57% โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่นันทนาการ และศาสนสถาน ทำได้น้อยกว่า 50% และประชาชนเชื่อมั่นว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มั่นใจการป้องกันการติดเชื้อด้วยตนเอง และประสิทธิภาพของการออกมาตรการของรัฐบาล ต่อสถานการณ์ความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีน ขณะนี้ไทยกำลังทดลองในสัตว์ คาดว่าผลของการการทดสอบ 10 แบบ ใน 5 ประเทศ จะใช้เวลา 6-12 เดือน

ขณะที่ นายกฯ กล่าวว่า ความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดการมาจากความร่วมมือของประชาชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น แต่สถานการณ์ก็ยังวางใจไม่ได้ ต้องเตรียมพร้อมอยู่เหมือนเดิม เช่น เตรียมการดูแลผู้ป่วย สถานที่ เตียงผู้ป่วย ดำเนินการตามมาตรการคัดกรอง และยังคงต้องใช้มาตรการทางสังคมที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ช่วยกันดูแล สอดส่อง และตักเตือน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเปรียบเทียบมาตรการกับประเทศอื่นๆ ที่มีสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ว่ามีการดำเนินการผ่อนคลายอย่างไร แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ไม่รีบร้อน

ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานภาพรวมการใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ ว่า มียอดสะสมร้านค้าใช้งาน 125,408 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 15,592,611 คน ตั้งแต่ 17-28 พฤษภาคม 2563 ส่วนผลการประเมินกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการ ผลคะแนนเกิน 90% ในทุกประเภทธุรกิจ เช่น การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ธนาคาร คลินิกเสริมความงาม

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) รายงานว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาถึงมาตรการคัดกรองป้องกันเป็นหลัก โดยประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาดำเนินการคือ

1. มาตรการคัดกรองไข้ และอาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ และรายงานหน่วยงานรับผิดชอบ กรณีพบผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตามแนวทางที่กำหนด2. ทุกกิจการและกิจกรรมจัดให้มีการลงทะเบียนก่อนเข้า – ออกสถานที่ และเพิ่มมาตรการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูล และรายงานทดแทน3. ให้พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น การลงทะเบียนเข้า - ออกสถานที่ ระบบการเรียน การสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ

โดยในที่ประชุมได้พิจารณากำหนดกิจกรรมที่ให้ผ่อนคลายในระยะที่ 3 ได้แก่

1. สำหรับกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ (เปิดถึง 21.00 น.) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม ไม่เกินรายละ 2 ชม. และไม่มีผู้นั่งรอในร้าน2. กิจกรรมด้านการออกกำลังกายดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ เช่น คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา และนวดแผนไทย สถานออกกำลังกาย ฟิตเนส โรงภาพยนตร์ สระน้ำหรือกิจกรรมทางน้ำ

ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ยังคงไว้ ได้แก่1. ยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทั้งทางบก น้ำ อากาศ2. ปรับระยะเวลาเคอร์ฟิว เป็น 23.00 – 03.00 น.3. สามารถเดินทางข้ามจังหวัดภายใต้มาตรการตามที่ราชการกำหนด4. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้เปิดดำเนินการ ไม่เกินเวลา 21.00 น.

นอกจากนี้เลขาธิการสภาคววามมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ยังเปิดเผยภายหลังประชุม ศบค. ว่าตนได้นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาศึกษาเพื่อรองรับกรณีหากยกเลิกการประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉิน หลังมีการขยายการบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. โดยนายกฯ เห็นชอบหลักการด้วย ซึ่งจะมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่พิจารณาว่า หลังวันที่ 1 ก.ค.หากไม่มี พรก. ฉุกเฉิน แล้วและสมมุติจะมีการเปิดประเทศ จะใช้กฎหมายฉบับใดมาใช้แทน เพราะต้องมีมาตรการดูแลป้องกันดูแลที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อคณะกรรมการนายวิษณุ จะนำเสนอนายกฯ เพื่อแต่งตั้งต่อไป