posttoday

"วิษณุ" รับ มีเสนอลดเวลา “เคอร์ฟิว” ห่วง สภาถกพ.ร.ก.เงินกู้ยาวไม่มีคนร่วมประชุม

23 พฤษภาคม 2563

"วิษณุ" รับ มีการเสนอปรับลดเวลา “เคอร์ฟิว” แต่ยังไม่มีมติ เผย นายกฯ เน้นย้ำ เรียนทางไกล ไม่ใช่เรียนออนไลน์ ห่วง สภาอภิปรายพ.ร.ก.เงินกู้ยาวจะไม่มีคนร่วมประชุม

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มอบหมายให้พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 24.00-04.00 น.ว่า มีการนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุมแต่ยังไม่ใช่มติ

ส่วนจะเชื่อมโยงหลังการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารรราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช้ต่อ เรื่องเคอร์ฟิวไม่ต้องพูดถึง แต่หากประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ การนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าไม่จำเป็นว่า เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะต้องบังคับใช้มาตรการทุกอย่าง ทั้งนี้ การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรา 5 แต่ผลของการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นไปตามมาตรา 9 ซึ่งมีอยู่ 7-8 ข้อ ดังนั้นจะเลือกใช้เป็นบางข้อก็ได้

“เหมือนที่ผ่านมา เราประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 5 และประกาศใช้มาตรา 9 เกือบทุกข้อ ซึ่งข้อแรกคือเรื่องเคอร์ฟิว ดังนั้น ถ้าต่อไปเราประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจจะเลือกบังคับใช้ตามมาตรา 9 เพียงบางข้อก็ได้ เช่น เคอร์ฟิวไม่มีก็ได้หรือจะลดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงก็ได้ หรือเวลานี้ห้ามชุมนุม ต่อไปอาจจะไม่ห้ามก็ได้ ซึ่งนี่คือตัวอย่าง ที่ยกให้ฟังเพื่อให้เห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการบังคับใช้มาตรการใดบ้างเป็นคนละส่วนกัน แต่ถ้าไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ใช้ข้อไหนไม่ได้เลย” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจในภาพรวมแล้วบอกต่อที่ประชุม ศบค.อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า สถิติดูดีขึ้น ถ้าดูตัวเลขของสถิติแต่ทางการแพทย์ยืนยันว่า ที่สถิติดีขึ้นนั้นเป็นผลจากการควบคุม แต่ถ้าเราไม่ควบคุม สถิติก็อาจจะแย่ลงก็ได้ ดังนั้นขอให้ตรึงไว้สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงตามลำดับ

ส่วนเรื่องโรงเรียนที่ประกาศปิดโรงเรียนและให้เรียนออนไลน์ และเลื่อนเปิดภาคเรียนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นมติครม. ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ซึ่งเรื่องการเปิดเรียน นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ศบค.ขอให้ใช้คำว่าระบบเรียนทางไกล ไม่ควรใช้คำว่าเรียนออนไลน์ เพราะการเรียนทางไกล อาจจะใช้ระบบทางโทรศัพท์ และยังสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์หรือดาวเทียม มีหลายวิธี

“เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่สอนทางไกลกันมาอยู่แล้วตั้งแต่ยังไม่มีโควิด-19 เป็นการเรียนทางไกลโดยซื้อตำรามาอ่านเรียนเองที่บ้าน นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไม่ได้แปลว่าจะต้องทำตลอดไปและไม่ได้แปลว่าจะต้องทำทุกวิชา และไม่ได้แปลว่าจะต้องทำกับเด็กทุกคน ระดับอนุบาลอาจจะอย่างหนึ่ง ระดับประถมอีกอย่างหนึ่ง และอาจจะเลือกเรียนเป็นบางวิชา เพื่อลดความเสี่ยง ลดความแออัด เพื่อให้เหลือน้อยชั่วโมง ซึ่งตอนนี้โรงเรียนที่ขอเปิดก่อน อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนจุฬาภรณ์ที่จะขอเปิดก่อนในเดือนมิ.ย.นี้ หรือถ้าโรงเรียนไหนเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ โดยผ่านการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 3 ฉบับ ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.นี้ ว่า รายละเอียดของการประชุมดังกล่าว เป็นเรื่องของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านที่ต้องหารือกันและจะนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พ.ค. แต่ถ้าการอภิปรายยาวไปถึงวันเสาร์-อาทิตย์ มีปัญหาอยู่ว่า จะมีคนมาเข้าร่วมประชุมหรือไม่