posttoday

ปชป.ชี้ปัญหาระบบคัดกรองครูศธ. เน้นวิชาการมากกว่าคุณธรรม

13 พฤษภาคม 2563

รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ชี้คดีครูข่มขืนนักเรียน สะท้อนระบบคัดกรองครูของ ศธ. มีปัญหา ให้ความสำคัญกับวิชาการมากกว่าคุณธรรมความดี

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีกลุ่มครูตกเป็นผู้ต้องหาในคดีข่มขืนนักเรียนที่จังหวัดมุกดาหารว่า ในเรื่องของคดีความก็ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย แต่สิ่งที่สังคมควรต้องให้น้ำหนักในเรื่องนี้ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาความไม่เข้าใจในระบบคัดกรองครูของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญต่อความสามารถทางวิชาการมากกว่าคุณธรรมความดี โดยขอตั้งคำถาม 4 ข้อคือ

1. การสมัครเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย นอกจากสาระวิชาทางวิชาการที่สอนและสอบแล้ว ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกศีลธรรมและจริยธรรมของการเป็นครูมากน้อยแค่ไหน

2. การสอบคัดเลือกคนเพื่อเป็นครูของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ทางวิชาการและอัตลักษณ์ของครูในเชิงการตอบข้อสอบ แต่ทำไมไม่มีมาตรการคัดกรอง อัตลักษณ์ และการประพฤติเชิงศีลธรรมและจริยธรรม

3. การปฏิบัติหน้าที่ของครู ผู้บริหารโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับการสอนวิชาการของครูตามหลักสูตรที่ สพฐ. กำหนด ก่อนการอบรมศีลธรรมและจริยธรรมของนักเรียน จริงหรือไม่

4. ทำไมการประเมินผลตามเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องทางวิชาการของครู ไม่ใช่เรื่องของการเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมและจริยธรรมของครูต่อนักเรียน

“สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางน้ำหนักเกือบทั้งหมดของกรอบที่เหมาะสมต่อสถานะความเป็นครูเอาไว้ที่เรื่องของวิชาการ ว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ที่จะทำให้นักเรียนเจริญก้าวหน้า และประสบความสำเร็จเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาคุณภาพนักเรียนนั้น จะต้องพัฒนาทางด้านวิชาการและศีลธรรมจริยธรรมควบคู่กันไป"

"ที่สำคัญ ด้วยข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันแล้วว่า การฝึกคนเก่งให้เป็นคนดี ทำได้ยากกว่า การฝึกคนดีให้เป็นคนเก่ง ดังนั้น ถ้า สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการ มีหลักในการสร้างนักเรียนด้วยการวางฐานที่ความเก่ง ครูที่ประเทศของเรามีอยู่ทั่วประเทศในตอนนี้ ก็จะมาจากการคัดสรรในเรื่องของวิชาการเป็นสำคัญ ซึ่งหมายความว่า ความขาดพร่องในเรื่องอื่นๆ อาจถูกมองข้ามไปก็เป็นได้"ศ.ดร.กนกกล่าว

รองหัวหน้าประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า ครูที่ดียังจะต้องทำหน้าที่ชี้แนวทางการศึกษา และการดำเนินชีวิตที่ดีงามให้แก่นักเรียน แต่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ชี้แนวทางมีน้อยมากในโรงเรียนของเรา ครูที่ดียังจะต้องทำหน้าที่เป็นแบบอย่างของการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามให้แก่นักเรียน แต่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่าง แทบจะไม่มีเลยในโรงเรียนของเรา โรงเรียนของเราต้องการครูวิชาการ ครูชี้แนวทาง และครูแบบอย่าง ในตัวครูคนเดียวกัน ดังนั้น เมื่อเราสามารถมีระบบในการคัดกรองในการได้มาซึ่งครูเช่นนั้น เชื่อแน่ว่า การล่วงละเมิดทางเพศของครูต่อนักเรียนจะหมด