posttoday

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (2)

07 พฤษภาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

************************

ในราวปี430 ก่อนคริสตกาล เอเธนส์ได้ประสบกับวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับที่ต้องทำสงครามกับสปาร์ตา ผู้คนชาวเอเธนส์ต้องล้มตายจากโรคระบาดเป็นจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด (ประชากรทั้งหมดมีจำนวนราวสี่แสนคน) อาการของโรคจะเริ่มที่หัวก่อนแล้วค่อยๆไปสู่ส่วนที่เหลือของร่างกาย นั่นคือ เริ่มจากตัวร้อนมีไข้ ตาแดงอักเสบ เจ็บคอจนเสมหะมีเลือดปน ลมหายใจเหม็น จาม คอแหบ เสียงไม่มี ไอ อาเจียน มีตุ่มหนองแผลขึ้นตามตัว กระหายน้ำอย่างรุนแรง นอนไม่หลับท้องเสีย จะทรมานร้อนมากเพราะพิษไข้ ถึงขนาดทนใส่เสื้อผ้าไม่ไหว เวลาท้องเสียจะปวดท้องมาก พิษร้ายนี้รุนแรงจนนอนไม่หลับ อาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นครบภายในเวลาประมาณเจ็ดแปดวัน ติดเชื้อปั๊บ เจ็ดวันตาย

คนที่เล่าเรื่องโรคระบาดที่เอเธนส์นี้มีอยู่คนเดียว นั่นคือ ธูซิดิดีส (Thucydides) ชาวเอเธนส์ที่ได้บันทึกเรื่องโรคระบาดใหญ่นี้ไว้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่เขาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์สงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (2)

อีกรูปหนึ่งของธูซิดิดีส

อาจมีคนถามผมว่า ในฐานะที่ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องเพลโต ทำไมไม่เล่าให้ฟังว่าเพลโตคิดยังไงกับโรคระบาด ? คำตอบคือ เพลโตอาจจะมีอะไรที่พูดถึงโรคระบาด แต่ก็ไม่ใช่ประสบการณ์ตรง เพราะเขาเกิดไม่ทันโรคระบาด เพลโตเกิดหลังโรคระบาดหนึ่งปี น่าจะโชคดีของเขา แต่ก็น่าเสียดายสำหรับเรา เพราะถ้าเขาเกิดเร็ว และมีประสบการณ์กับโรคระบาดโดยตรงด้วยตัวของเขาเอง เราอาจจะเห็นเพลโตเขียนปรัชญาหรือปรัชญาการเมืองที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ก็ได้ หรืออย่างน้อยก็น่าจะมีข้อเขียนเกี่ยวกับมนุษย์กับโรคระบาดออกมาสักเล่มหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ ถ้าเพลโตเกิดทันโรคระบาด เขาอาจติดเชื้อตายไป และปรัชญาในโลกนี้ก็อาจจะพลิกโฉมหน้าไปเลยก็ได้ ??!! เพราะชอบพูดกันนักว่า ปรัชญาตะวันตกทั้งหมดจนปัจจุบันล้วนแต่ได้รับอิทธิพลจากเพลโต

แม้เพลโตจะไม่ได้ร่วมสมัยกับโรคระบาดที่ธูซิดิดีสประสบ แต่ที่แน่ๆก็คือ อาจารย์ของเพลโตมีชีวิตอยู่ในช่วงที่โรคระบาด อาจารย์ที่ว่านี้ก็คือ โสกราติส นั่นเอง แต่อย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า โสกราติสคือบุรุษที่ไม่เคยเขียนอะไรไว้ เข้าทำนอง “ดีแต่พูด แต่ไม่ชอบเขียน”

อีกทั้งจะติดเชื้อหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่หนังโสกราติสเหนียวรอดโรคระบาดมาได้ แต่มาตายจากการถูกพิพากษาประหารชีวิตให้ดื่มยาพิษในปี 399 ก่อนคริสตกาล เช่นกัน หากโสกราติสติดโรคระบาดตายไปตั้งแต่ปี 430 ก่อนคริสตกาล เพลโตย่อมไม่มีอาจารย์ชื่อโสกราติส โลกแห่งความรู้ตะวันตกก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ก็ได้อีกเช่นกัน ??!!

คราวที่แล้ว ผมเขียนบอกไปว่า ธูซิดิดีสโชคดีไม่ติดโรคระบาด จึงรอดตายมาได้ แต่เมื่อกลับไปอ่านให้ละเอียดอีกที จะพบว่า ตัวเขาเองก็ติดเชื้อ แต่รอดมาได้ แต่จริงๆ เขาก็เขียนไว้ว่า แม้แต่คนที่แข็งแรงมากๆ เมื่อติดเชื้อแล้วก็ยังไม่รอด ซึ่งความแข็งแรงที่ว่านี้ ธูซิดิดีสน่าจะหมายถึง พวกนักรบที่แข็งแรงกำยำ ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เราอาจจะเข้าใจได้ว่า คนที่ติดเชื้อแล้วรอด ไม่จำเป็นต้องมีร่างกายแข็งแรงกำยำเท่ากับว่าตัวเขาผู้นั้นมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคนี้มากน้อยเพียงไร การที่ตัวธูซิดิดีสติดแล้วรอดมาได้ เขาก็เข้าข่ายมีภูมิต้านทานในตัวเอง

ธูซิดิดีสเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดในเอเธนส์ไว้ว่า ในช่วงที่เริ่มเกิดโรคระบาดใหม่ คนที่เป็นหมอก็ไม่สามารถทำอะไรกับเจ้าโรคร้ายนี้ได้ เข้าข่ายอึ้งกิมกี่ ไม่รู้จะต่อกรกับมันยังไง อีกทั้งพวกหมอๆเองก็กลับตายเองเสียอีกจากการที่ไปดูและใกล้ชิดผู้ป่วยบ่อยๆ เมื่อหมอจนปัญญา (และตายไปมาก) ก็มีผู้คนพยายามจะใช้ศาสตร์และศิลป์สารพัดที่ตัวเองพอรู้อยู่ไปรักษาผู้ป่วย แต่ก็ไม่ได้ผล เมื่อถึงจุดอับจนของสติปัญญาของมนุษย์เดินดิน ผู้คนก็ยกระดับไปขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่างก็พากันไปทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้เทพเจ้าในวิหารต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าเทพเจ้าไม่โปรด พิโรธ หรือเทพเจ้าไม่มีจริงก็ไม่ทราบ เพราะคนก็ยังล้มตายไปเรื่อยๆ และโดยเฉพาะพวกที่พากันไปร่วมทำพิธีในวิหารก็ยิ่งตายให้เห็น (ก็ยิ่งติดโรคกันไง !) ดังนั้น ผู้คนที่เหลือก็เลยเลิกไปวัด เลิกทำพิธีไป

ไม่รู้ว่าจะเป็นสิ่งดีหรือเปล่าที่ การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน มีข่าวเกี่ยวกับการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยไม่มากนัก อย่างน้อยในบ้านเรา ก็ยังไม่เห็นชัดอะไร แต่เชื่อว่าต้องมีอยู่อย่างแน่นอน และได้ยินแว่วๆว่ามีหลวงพ่อรูปหนึ่งที่ท่านอดอาหารน้ำเพื่อบำเพ็ญตบะเพื่อหวังจะไล่โรคร้ายนี้ออกไปจากโลกมนุษย์ (เจ้าสำนักสงฆ์วัดป่าอุทยาน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ขังตัวเองในกรงเหล็ก ไม่ยอมฉันภัตตาหารมา 38 วัน เพื่ออธิษฐานรักษาโรคโควิด-19 ให้คนทั้งโลก หากไม่สำเร็จยอมตายอยู่ในกรง https://www.sanook.com/news/8110318/)

แต่ตัวธูซิดิดีสดูจะเป็นคนโบราณที่มีสติดีพอสมควร เพราะในการบันทึกเรื่องโรคระบาดของเขา เขายังอุตส่าห์พยายามหาที่มาของโรค โดยเขาเล่าว่า โรคระบาดที่มาระบาดที่เอเธนส์นี้เริ่มที่เอธิโอเปียบริเวณที่อยู่เหนืออียิปต์ แล้วแพร่ลงมาที่อียิปต์และลิเบีย และต่อมาๆก็มาถึงเอเธนส์ โดยคนเอเธนส์ที่เริ่มติดเชื้อก่อนก็คือ คนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนกำแพงเมืองที่เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเล (ของปัจจุบัน ก็มีแพร่มาทางชายแดน และจากผู้คนที่เดินทางโดยเครื่องบิน)

ขณะเดียวกัน ธูซิดิดีสบันทึกไว้อีกด้วยว่า มีคนลือกันว่า โรคระบาดนี้เกิดจากกการที่มีใครเอาเชื้อมาปล่อยไว้ในบ่อน้ำ !! แหม ! ดูเหมือนว่า วิธีคิดของคนเราจะไม่เคยเปลี่ยน หรือไม่พฤติกรรมของมนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน ?! เพราะวิธีคิดแบบนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ก็มีคนคิดแบบนี้เหมือนกัน นั่นคือ บอกว่า โรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลกเป็นฝีมือและความตั้งใจของประเทศบางประเทศในการบ่อนทำลายประเทศบางประเทศ ซึ่งเราเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า ทฤษฎีสมคบคิด

แต่ที่ธูซิดิดีสบอกว่า มีคนลือกันว่า โรคระบาดเกิดจากการที่มีคนเอาเชื้อมาใส่ไว้ในบ่อน้ำบริเวณชายแดนเอเธนส์ มีความหมายในทางยุทธศาสตร์การทำสงครามได้ว่า เมื่อข้าศึกที่ยกทัพทางทะเลมาขึ้นฝั่ง เมื่อเจอบ่อน้ำก็มักจะวิ่งเข้าหา เพราะอยู่บนเรือล่องทะเล ต้องประหยัดน้ำ ดังนั้น การเอาเชื้อไปใส่ไว้ในบ่อน้ำเป็นกลวิธีในการกำจัดข้าศึก หรือถ้าไม่ใช่การกำจัดข้าศึก ก็แปลว่าจะต้องมีการวางแผนร้ายบ่อนทำลายเอเธนส์ด้วยกันเอง

แต่ธูซิดิดีส “ลบหรือดีลีท (delete)” คำอธิบายการเกิดโรคระบาดในเอเธนส์ชุดนี้ออกไป เพราะเขาทำการตรวจสอบข้อมูลและความเป็นจริงพบว่า จริงๆแล้ว ในขณะที่เกิดโรคระบาด ยังไม่มีบ่อน้ำ บ่อน้ำเกิดขึ้นทีหลัง !

ยิ่งกว่านั้น ธูซิดิดีสดูจะเป็นคนที่รับผิดชอบและไม่มั่ว เพราะเมื่อเขาไม่รู้ว่าโรคนี้มาถึงเอเธนส์ได้ยังไง และจุดเริ่มต้นจริงๆมันมาจากไหน เขาก็ยืนยันที่จะไม่เดาสุ่ม และบอกว่า คงต้องปล่อยให้นักเขียนหรือใครก็ตามไปคาดเดากันเอง แต่ตัวเขาจะอธิบายเฉพาะสิ่งที่เขารู้ เขาเห็นจริงๆ นั่นคือ ลักษณะของโรค อาการ เพราะเขาคิดว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้ เพราะหากมันเริ่มกลับมาระบาดอีก จะได้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ครั้งแรกที่ระบาดนี่ ไม่มีใครรู้มาก่อน ดังนั้น เมื่อเกิดโรคระบาดแล้ว ควรทำความรู้จักกับมัน เมื่อมันกลับมาอีก จะได้ตั้งตัวได้ทัน และที่สำคัญคือ เขาสังเกตลักษณะและอาการของโรคนี้ ไม่ใช่แค่จากผู้ป่วยคนอื่น แต่จากตัวเขาเองด้วย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ตัวเขาเองก็ติดเชื้อ แต่รอด

และลักษณะอาการของโรคที่ธูซิดิดีสได้บันทึกไว้ก็เป็นอย่างที่ผมได้กล่าวไป ข้างต้นแล้ว แต่ที่น่ากลัวก็คือ คนที่ป่วยและฟื้นตัวมาระลอกแรก จะจำอะไรไม่ได้เลย นั่นคือ จำเพื่อนๆไม่ได้ และซ้ำร้ายจำตัวเองไม่ได้ด้วย ! อาการแบบนี้ มันมาจากโรคอะไรก็ไม่รู้ได้ แต่น่าจะเข้าข่ายที่พิษไข้สูงจนอาจจะทำให้สมองฟั่นเฟือน

จนแล้วจนรอด คำถามที่ผมตั้งไว้ในตอนที่แล้วก็ยังไม่ได้ตอบซะที ที่ถามไว้ว่า ถ้าคุณเป็นคน เอเธนส์ และติดเชื้อที่ว่านี้ และมองไม่เห็นทางรักษา และเทพเจ้าก็ไม่เห็นมีทีท่าว่าจะช่วย บวงสรวงก็แล้ว ทำดีมาตลอดชีวิตด้วย คุณจะทำอย่างไรกับชีวิตคุณ ?

เอาไว้ต่อคราวหน้า ดูสิว่า ธูซิดิดีสบันทึกไว้อย่างไร

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (2)

การบวงสรวงเทพเจ้าบางองค์ตามศรัทธาของแต่ละผู้คนในสถานการณ์โรคระบาด