posttoday

ห่วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน "รัฐบาล" ทำเสียของ

05 พฤษภาคม 2563

รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ ห่วงการใช้เงินกู้1ล้านล้านบาทของรัฐบาลจะเสียของ เหตุมอบแต่เงินลงไป กับแรงของข้าราชการ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความกังวลต่อมาตรการการใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด ในส่วนของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งพุ่งตรงการใช้จ่ายไปยังภาคการเกษตรเพื่อรองรับเกษตรกรชนบท และแรงงานคืนถิ่นว่า ความล้มเหลวของหลายโครงการจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มานั้น คือการไม่เปลี่ยนความคิดและการกระทำของประชาชน มอบแต่เงินลงไป กับแรงของข้าราชการ ดังนั้น เมื่อเงินหมด โครงการหยุด ข้าราชการกลับ ชาวบ้านก็กลับไปยากจนเหมือนเดิม ?ที่สำคัญ

การฝากความหวังไว้ที่ทีมของข้าราชการที่ขาดกระบวนการด้านการสร้างความสัมพันธ์ ทักษะในด้านการอดทนรอคอย และมิติของความใส่ใจแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิด และการดำเนินชีวิตของชาวบ้านได้ เพราะนี่เป็นโจทย์ที่ใหญ่มากๆ สำหรับโครงการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งรัฐบาลต้องยอมให้ประเทศเป็นหนี้มหาศาล เพื่อสร้างงานและผลิตภาพให้กับภาคการเกษตรของท้องถิ่น

"ถ้าทำกันแบบเดิมๆ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นแบบเดิมๆ คือ โครงการเงินกู้นี้ก็จะกลายสภาพเป็นโครงการกู้เพื่อซื้อปุ๋ย ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อกล้าไม้ แล้วนำไปแจกจ่ายให้ประชาชน โดยไม่ได้สร้างรายได้ ความภาคภูมิใจ หรือทักษะอะไรให้กับชาวบ้านเลย ทุกอย่างสูญเปล่าไปกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากมายที่คนไทยทุกคนต้องแบกรับ"

?ทั้งนี้ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังได้เสนอแนวทางในการบริหารจัดการโครงการที่จะเกิดขึ้นนี้ ให้มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่างบประมาณที่จะลงไป โดยหยิบยกประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ดังนี้

1.ต้องทำความเข้าใจต่อความคิดและพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกร เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประชาชนถูกทำให้เคยชินกับการร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังนั้น การแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้าน กระบวนการแรกที่สำคัญ คือการทำให้ชาวบ้านกลับมาคิดได้ว่า ปัญหาความยากจนจะลดลง และสามารถหมดไปได้ ก็ต่อเมื่อพวกเขาลุกขึ้นมาทำงานด้วยตนเอง “ไม่รอ ไม่ขอ” ความช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้น

2.ต้องสำรวจสภาพความเป็นจริงทางกายภาพ และสังคมของพื้นที่ เพื่อจัดทำแผนที่ภูมิสังคมที่จะเป็นหัวใจหลักของโครงการแก้ไขความยากจนที่จะเกิดขึ้น และในการทำข้อมูลภูมิสังคมนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ควรเป็นทีมที่รับผิดชอบ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัย (องค์ความรู้) เป็นพี่เลี้ยงทางเทคนิค และการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลพื้นที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อปัญหาและความเป็นจริงของสภาพพื้นที่ตรงกันระหว่างชาวบ้านด้วยกัน และระหว่างชาวบ้านกับทีมงานของอาจารย์

3.ชาวบ้านต้องเป็นคนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะเป็นการประสานระหว่างทีมอาจารย์หรือนักวิชาการที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาประกอบกลไกทางการเกษตรแบบเดิมๆ ของชาวบ้าน ด้วยการลงมือปฏิบัติร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ถ่ายทอดทักษะและความรู้ใหม่ๆ ให้พวกเขาได้ทดลองเพื่อให้เกิดความมั่นใจ หรือที่เรียกกันว่า “การพาทำ” จนกระทั่งเมื่อผลผลิตที่ได้ประสบความสำเร็จตามความต้องการของชาวบ้าน และทีมอาจารย์ที่วางเป้าหมายไว้ล่วงหน้า เมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดและวิธีปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ จนสามารถกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของชาวบ้านได้อย่างสมบูรณ์