posttoday

ดีเอสไอ แย้งอัยการปมไม่อุทธรณ์คดี "โอ๊ค" ร่วมฟอกเงินกรุงไทย

25 เมษายน 2563

ดีเอสไอโต้แย้งคำสั่งอัยการไม่อุทธรณ์คดี “โอ๊ค-พานทองแท้” ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย ลุ้น อสส.ชี้ขาดเห็นพ้องหรือไม่ ขณะที่ศาลขยายเวลาอุทธรณ์ถึง 26 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีทำความเห็นแย้งในคดีของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก ที่เป็นจำเลยในคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร ในส่วนเช็ค 10 ล้านบาท ซึ่งอัยการศาลสูงมีมติเอกฉันท์ไม่อุทธรณ์คดี และได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษาให้ดีเอสไอ เพื่อพิจารณาทำความเห็นแย้งหรือไม่แย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์ของอัยการ โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ได้พิจารณารายงานตามที่คณะทำงานเพื่อตรวจสอบพิจารณาและมีความเห็นในชั้นความเห็นแย้งเสนอ ซึ่งพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ และในชั้นศาลที่มีความเห็นของผู้พิพากษาที่ยกฟ้องและที่ทำความเห็นแย้งไว้ ประกอบกับความเห็นของอัยการที่มีมติไม่อุทธรณ์คดีโดยครบถ้วนและรอบคอบแล้ว เห็นว่าควรนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูง ดีเอสไอจึงมีความเห็นโต้แย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าวของพนักงานอัยการ และให้ส่งความเห็นโต้แย้งให้นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด พิจารณา

รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า กรณีดังกล่าวเมื่อดีเอสไอพิจารณาแล้วมีความเห็นแย้งกับคำสั่งไม่อุทธรณ์ของอัยการ ก็จะต้องส่งความเห็นพร้อมทั้งเหตุผลในการโต้แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาชี้ขาด ซึ่งคำชี้ขาดของอัยการสูงสุดจะถือเป็นที่ยุติ หากอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นฟ้องกับความเห็นโต้แย้งของดีเอสไอก็จะมีคำสั่งให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่หากอัยการสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยกับความเห็นคำโต้แย้งของดีเอสไอ คำชี้ขาดของอัยการสูงสุดจะถือเป็นที่สุดและมีผลเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่อุทธรณ์คดี

สำหรับคดีนี้ สำนักงาน ปปง. ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีอาญากับนางเกศนี จิปิภพ , นางกาญจนาภา หงษ์เหิน , นายวันชัย หงษ์เหิน และนายพานทองแท้ ชินวัตร รวม 4 คน ในความผิดฐาน สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมกันฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้สมคบกัน โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 25/2560 โดยทางคดีทำการสอบสวนเสร็จสิ้นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.61 ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 25 พ.ย.62 ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง จากนั้น พนักงานอัยการ ในฐานะโจทก์ ได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา จำนวน 5 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 19 ธ.ค.62 ครั้งที่ 2 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 ก.พ.63 ครั้งที่ 3 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 มี.ค.63 โดยระหว่างนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อุทธรณ์เมื่อวันที่ 19 มี.ค.63 และส่งสำนวนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมความเห็นไม่อุทธรณ์คำพิพากษามายังอธิบดีดีเอสไอเมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่ ตามพ.ร.บ.คดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 34 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งพนักงานอัยการได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา เป็นครั้งที่ 4 ศาลอนุญาตถึงวันที่ 25 เม.ย.63 ต่อมาดีเอสไอ ได้ทำหนังสือแจ้งอัยการคดีพิเศษ เพื่อขอให้ขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาออกไป เนื่องจากการพิจารณาความเห็นโต้แย้งหรือไม่ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้เป็นครั้งที่ 5 ถึงวันที่ 25 พ.ค. 63