posttoday

เลื่อนอ่านฎีกาครั้งที่สี่ คดี "4 แกนนำ นปช." บุกบ้านสี่เสาฯ

24 เมษายน 2563

ศาลอาญา เลื่อนนัดอ่านฎีกาครั้งที่สี่ คดี "4 แกนนำ นปช." นำบุกบ้านสี่เสาฯ 26 มิ.ย.นี้ ตามนโยบายเลี่ยงไวรัสโควิด19 ระบาด

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกลุ่มนปช.ชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550 ซึ่งเคยเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.63 เวลา 09.00 น.นั้น ล่าสุด ศาลอาญา ได้เลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ ออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.63 เวลา 09.00 น. เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการควบคุมแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีประกาศเรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 และยังประกาศคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วย ที่ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล ใช้ดุลพินิจพิจารณาเลื่อนคดีจัดการพิเศษ , คดีสามัญ , คดีสามัญพิเศษทุกคดี ที่นัดในช่วงเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.นี้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 , นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน , นายวันชัย นาพุทธา , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในคดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง , 215 , 216 , 297 , 298 ประกอบมาตรา 33 , 83 , 91

กรณีสืบเนื่องจากวันที่ 22 ก.ค.50 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ สนามหลวง ไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่1 ได้ใช้ ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ. ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเดือน ม.ค.60 ว่า 4 แกนนำ นปช.ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม , มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7คนละ 2 ปี 8 เดือน

ส่วนของ นายนพรุจ อดีตแกนนำพิราบขาว จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยโทษจำคุกทั้งหมดนั้นไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา) ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คนได้ยื่นฎีกาสู้คดี และได้ประกันตัวระหว่างฎีกาคนละ 500,000 บาท พร้อมถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต

โดยคดีเคยนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งแรก วันที่ 31 ก.ค.62 แต่ขณะนั้นมีจำเลยบางคนป่วย กระทั่งนัดอ่านครั้งที่สอง วันที่ 23 ก.ย.62 ก็ปรากฏว่า นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูเเถลง และนพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธความผิด และขอต่อสู้คดี เป็นยื่นคำให้การใหม่ขอให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ จึงต้องส่งสำนวนกลับไปให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

และเมื่อนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 ก.พ.63 ก็ปรากฏว่านายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ย้ายที่อยู่ จึงไม่สามารถส่งหมายนัดให้ได้ ศาลอาญาจึงกำหนดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 4 มาเป็นวันที่ 30 เม.ย.63

ภาพประกอบข่าว