posttoday

"ดร.กนก"เสนอรัฐบาลปรับแนวคิดด้านศก.ใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย

19 เมษายน 2563

"กนก วงษ์ตระหง่าน"เสนอแนวคิดปรับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ หลังวิกฤตไวรัสโควิด-19 เน้นให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น และนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมสร้างความมั่นคงให้ภาคเกษตรทุกระดับ

ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด- 19  คือการประคองไม่ให้ธุรกิจต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรต้องได้รับความช่วยเหลือทันที เพื่อรักษาธุรกิจให้คงอยู่ต่อไป ส่วนภาคประชาชนก็เช่นกัน ต้องได้รับการช่วยเหลือ อย่างน้อยที่สุดก็คือ จำนวนเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจนกว่าจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ อีกทั้งภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือนต้องได้รับการผ่อนปรน ไม่สร้างภาระเพิ่มเติม?และที่สำคัญ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องมองไปถึงช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับความช่วยเหลือเฉพาะหน้าคู่ขนานกันไปด้วย เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเหมาะสมกับภาวการณ์ของโลกในอนาคต (ยุคหลังโควิด 19) ด้วยการสร้างความสมดุลและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่จะไปเป็นตัวขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน รวมไปถึง ธุรกิจ SME

ทั้งนี้ มีเป้าหมายคือ 1.การสร้างมาตรฐาน (Standard) ของกระบวนการผลิต และผลผลิต 2.การสร้างผลิตภาพ (Productivity) และ 3.การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เมื่อภาคการผลิตของระบบเศรษฐกิจฐานรากมีขีดความสามารถทั้ง 3 ด้านนี้แล้ว ผมมีความเชื่อว่า อนาคตของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย จะไม่มีทางสั่นคลอนหรือเปราะบางได้ง่ายดังเช่นที่ผ่านมา” ดร.กนก กล่าว?รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้ลงรายละเอียดถึงกระบวนการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ข้างต้น ดังนี้ 1.เพิ่มมูลค่าและผลิตภาพทางภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการเกษตร ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเป็นเครื่องมือในกระบวนการผลิต ที่สำคัญ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ควรต้องตรงไปยังเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SME เพราะกลุ่มเหล่านี้มีจำนวนมาก และเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแรงได้สำเร็จ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะเป็นผลลัพธ์ที่ตามมา

2.ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความสมดุล ด้วยการเร่งนโยบายภาคการเกษตรให้เติบโตเป็นร้อยละ 30 ของ GDP ประเทศ และปรับให้ภาคอุตสาหกรรมมีขนาดร้อยละ 30 และภาคบริการรวมทั้งการท่องเที่ยวเป็นร้อยละ 40 ของ GDP ประเทศ ด้วยสัดส่วนเช่นนี้ ผมเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย จะมีโครงสร้างที่สมดุล และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์ประกอบทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ 3.ปรับคุณภาพทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และเสริมทักษะของแรงงานให้เต็มศักยภาพ ด้วยความร่วมมือจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคธุรกิจของประเทศ ในการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน ทักษะที่เชี่ยวชาญต่องานที่ทำ และความรับผิดชอบที่ได้รับการปลูกฝังผ่านคุณค่าต่างๆ สิ่งเหล่านี้เองจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างผลิตภาพให้เกิดขึ้นได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

4.ส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจชีวภาพ ในด้านอาหาร และการสร้างสารสกัดที่โลกกำลังต้องการ ด้วยการผสมผสานระหว่างระบบการผลิตด้านการเกษตร กับความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการทดลองและยืนยันความสำเร็จโดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น สารสกัดในพืช (Active Ingredients) หรือบรรดาสมุนไพร (ในประเทศ) ที่ต้องได้รับการสร้างมูลค่าใหม่ในรูปของอาหารฟังชั่น (Functional Food) หรือแบคทีเรียที่ปรากฏในสภาพพื้นที่ของแต่ละภูมิภาค (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ (ในทางวิชาการเรียกว่า Probiotics, Prebiotics, Synbiotic และ Postbiotics) ต้องถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชน เป็นต้น

?“ในภาวะที่วิกฤตไวรัสทำความเสียหายให้กับแนวคิดเศรษฐกิจของโลกในแบบเดิมๆ อย่างย่อยยับเช่นนี้ ข้อเสนอของผมเป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้กับโลกใบนี้ ซึ่งได้กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ทั้งจากการเป็นส.ส. และประชาชนคนหนึ่ง และพลเมืองที่ดีของประเทศไทย เพื่อฝากส่งไปยังผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หวังว่าจะพิจารณาความเห็นและข้อเสนอต่างๆ จนกลายเป็นมาตรการ นโยบาย หรือข้อปฏิบัติอย่างแม่นยำนะครับ” อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทิ้งท้าย