posttoday

มท.ตีความโควิดไม่เข้าข่ายสาธารณภัยใหม่ปิดโอกาสอปท.ดึงงบกลาง

10 เมษายน 2563

กมธ. ติดตามงบฯ ติง มท.ตีความโควิด-19 ไม่เข้าข่าย “สาธารณภัย” ใหม่ เท่ากับปิดโอกาสอปท.ท้องถิ่นดึงงบกลางไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ

นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ติง มหาดไทย ตีความโรคโควิค-19 ไม่ใช่ “สาธารณภัย” ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถขอสนับสนุนงบกลางมาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้จากการที่กระทรวงมหาดไทย ได้จัดการประชุมทางไกลเพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ (อปท.) เพื่อแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์โรคโควิด-19 เมื่อ 7 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา มีการสอบถามแนวทางปฏิบัติการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้อ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุข (26 กพ. 63) ด้วยเหตุผลว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่เข้าข่ายเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 จึงถือว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายเป็นสาธารณภัยซึ่งตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ได้ให้คำนิยาม “สาธารณภัย” ว่า หมายรวมถึงโรคระบาดในมนุษย์อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น หรือเหตุอันใดซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน แต่การตีความของกระทรวงมหาดไทยกลับตีความว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ถือว่าเป็นสาธารณภัย ปิดโอกาสท้องถิ่นใช้งบกลางได้

นายไชยา พรหมา ยังได้กล่าวอีกว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562 ให้คำจำกัดความว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง “สาธารณภัย” อันเป็นภัยที่เกิดจากโรคที่แพร่ระบาดในมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และร่างกายของประชาชน น่าจะเพียงพอกับคำว่า “สาธารณภัย” อีกทั้ง องค์การอนามัยโลกยังประกาศให้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ ดังนั้น รัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่การตีความของกระทรวงมหาดไทย กลับทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมดโอกาสในการขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เท่ากับรัฐบาลไม่ให้เครื่องมือหรืออาวุธแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ต่อสู้ในครั้งนี้ อีกทั้งเกิดการเคลื่อนย้ายประชาชนกลับภูมิลำเนาเป็นอย่างมาก และรัฐบาลมีมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมีความจำเป็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีงบประมาณเพียงพอ เพื่อสนับสนุนการทำงาน ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้แก่ประชาชนในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในพื้นที่ของตนเองไม่ให้กระจายออกไปอย่างเร่งด่วน

เป็นที่สังเกตว่า การตีความ “สาธารณภัย” ของกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามที่จะดึงงบกลางไว้ใช้เองแต่เพียงผู้เดียว เป็นการปิดโอกาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะใช้งบกลางมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง จึงอยากจะให้กระทรวงมหาดไทยได้ทบทวนเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน