posttoday

"ธีระชัย"เขียนจม.ฉบับ2ถึงนายกฯ ชี้จุดอ่อน3พ.ร.ก.สู้โควิด

08 เมษายน 2563

อดีตรมว.คลัง ชี้จุดอ่อน พ.ร.ก.3ฉบับสู้วิกฤตโควิด-19 แผนใช้เงินส่วนใหญ่ไม่รีบด่วน ขาดการกำกับดูแล เลี่ยงการตรวจสอบถ่วงดุล

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA เขียนจดหมายฉบับที่2 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 2 เนื้อหาแสดงความกังวลใจต่อกรณีรัฐบาล ออกพ.ร.ก.กู้เงิน และพ.ร.ก.อีก2ฉบับ เพื่อช่วยตลาดเงินกับช่วยตลาดทุนโดยใช้ข้ออ้างเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และแสดงเป็นห่วงเรื่องความไม่โปร่งใสเกรงว่าผลประโยชน์ไม่ได้ตกกับประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19กำลังแพร่ระบาด โดยมีเนื้อหาดังนี้

วันที่ 7 เมษายน 2563กราบเรียน นายเข้ม เย็นยิ่ง

ตามที่กระผมได้เรียนให้ท่านทราบเกี่ยวกับกรณีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกพระราชกำหนดเพื่อให้ ธปท. ทำการซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ นั้น กระผมขอเรียนความคืบหน้า บัดนี้ได้ปรากฏข่าวฐานเศรษฐกิจที่แสดงข้อมูลชัดเจนขึ้น ดังนี้

กฎหมายดังกล่าวจะออกเป็นชุดรวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ ซึ่งปรากฏข้อมูลว่าแต่ละฉบับมีประเด็นข้อพิจารณาแตกต่างกัน กระผมจึงจะขอกราบเรียนรายละเอียดทีละฉบับ

“พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า เงินกู้จำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จากผลกระทบจากระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิไว้จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 1.35 แสนล้านบาท

ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการจ้างงานระยะสั้นทั่วประเทศ การเสริมสร้างอาชีพโอกาสทักษะใหม่ๆให้ประชาชนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ

กระผมขอเรียนท่านว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มีจุดอ่อน 3 ประการ คือ

ประการที่หนึ่ง แผนการใช้เงินส่วนใหญ่ไม่รีบด่วน

แผนการใช้เงินตามที่ระบุนั้น เป็นเรื่องที่ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในวงเงินเพียง 1.35 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จึงเข้าเงื่อนไขของมาตรา 172 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

แต่การใช้เงินสำหรับการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการจ้างงานระยะสั้นทั่วประเทศ การเสริมสร้างอาชีพโอกาสทักษะใหม่ๆให้ประชาชนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ นั้น กระผมมีความเห็นทางวิชาการว่า ไม่อาจตีความได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงควรตราเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้มีการพิจารณาโดยรัฐสภาอย่างรอบคอบดังนั้น การตรากฎหมายในรูปพระราชกำหนดทั้งที่ไม่รีบด่วน จึงอาจทำให้ประชาชนกังวลว่าส่อพิรุธ หรือน่าสงสัยว่าประสงค์จะปิดปากสมาชิกรัฐสภามิให้ทำหน้าที่สอบถาม มิให้ตั้งข้อสังเกต หรือมิให้แสดงเหตุผลคัดค้านให้ปรากฏแก่ประชาชน อันเป็นพฤติกรรมที่ขาดความโปร่งใส หรือไม่?

ประการที่สอง อาจจะขาดการกำกับดูแลในระบบงบประมาณ

ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเกินกว่างบประมาณที่มีอยู่ และจำเป็นต้องใช้เงินกู้นั้น วิธีปฏิบัติปกติ รัฐบาลจะเสนอให้มีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี โดยสามารถกำหนดแหล่งเงินให้เป็นเงินกู้ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการตราพระราชบัญญัติจะมีการชี้แจงเกี่ยวกับแผนการใช้เงิน เพื่อสมาชิกรัฐสภาจะสามารถพิจารณา ตั้งข้อสังเกต และเสนอประเด็นเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ จะทำให้การใช้เงินอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของงบประมาณ

แต่พระราชกำหนดดังกล่าว ถ้าหากระบุวิธีการเบิกใช้เงินให้อยู่นอกกรอบของวิธีการงบประมาณ ก็จะเป็นอันตรายต่อวินัยการเงินการคลังของชาติทั้งนี้ การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนจำนวน 9 ล้านคน วงเงิน 1.35 แสนล้านบาทนั้น มีวิธีการใช้เงินที่แน่นอนและมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างผู้ลงทะเบียนขอรับเงินกับผู้จ่ายเงินอยู่ในตัว แต่กิจกรรมสำหรับการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ ซึ่งไม่มีการบรรยายโครงการที่ชัดเจน ไม่แจ้งว่าแต่ละโครงการใช้เงินเท่าใด ไม่ระบุกำหนดเวลาการจ่ายเงิน ไม่แสดงวิธีการตรวจสอบถ่วงดุล จึงย่อมทำให้ประชาชนกังวลได้ว่า อาจส่อเจตนาทำให้หละหลวม เป็นพิรุธว่าเพื่อเปิดช่องให้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง อาจมีการฉวยโอกาสหาประโยชน์ส่วนตน ในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตและประชาชนมีความยากลำบาก ใช่หรือไม่?

ประการที่สาม เลี่ยงมิให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาการใช้เงิน

การเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปีนั้น นอกจากจะมีการระบุโครงการใช้เงินแต่ละโครงการแล้ว รัฐบาลยังจะต้องเสนอการโยกงบประมาณระหว่างกระทรวง ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และเลื่อนการใช้จ่ายรายการใหญ่ออกไปชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ สมาชิกรัฐสภาจึงจะสามารถช่วยกันพิจารณาวิธีการสงวนและโยกย้ายงบประมาณให้ประหยัดอย่างเต็มที่เสียก่อนที่จะหันไปใช้การกู้เงินและเพื่อให้รัฐสภามีฉันทามติร่วมกันในโครงการใช้เงิน ซึ่งจะทำให้มีความราบรื่น ไม่ต้องมีการทักท้วงคัดค้านลักษณะของโครงการในภายหลังข้อเรียกร้องต่อนายเข้ม เย็นยิ่ง

ตามที่ระบุประวัติในสารานุกรมวิกิพีเดีย นายเข้ม เย็นยิ่งได้แสดงความกล้าหาญ หลายครั้ง โดยเฉพาะการส่งจดหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีผู้ทรงอำนาจมากในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 อันได้รับการชื่นชมมากมายจากสังคมกระผมจึงใคร่ขอให้ท่านกรุณาแสดงความกล้าหาญอีกครั้งหนึ่ง ส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อธิบายแก่ท่านว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอวิธีการทำงาน ที่ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยได้ว่า ผิดหลักการ ทำลายระบบการถ่วงดุลในกรอบรัฐสภาและในกระบวนการงบประมาณ หรือสงสัยได้ โดยอาจเห็นมีพิรุธว่าเป็นการฉวยโอกาสเปิดประตูหาประโยชน์ให้แก่บุคคลร่วมในหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในยามที่ประเทศเผชิญความทุกข์ยาก หรือไม่?กระผมใครขอให้ท่านให้ความสว่างเกิดขึ้นในใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะขณะนี้ประชาชนไม่สามารถพึ่งพาลำพังพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เนื่องจากในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่เหลือนั้น เป็นจำนวนเงินมหาศาล ที่มากพอที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะสามารถไปทำข้อตกลงเพื่อแจกจ่ายผลประโยชน์ส่วนตนให้เกิดขึ้นแก่สมาชิกรัฐสภาได้อย่างทั่วถึง ถ้าหากสมมุติเกิดมีจิตไม่บริสุทธ์ อันอาจเป็นการซื้อเสียงในสภาเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือไม่?

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น เนื่องจากกลุ่มบุคคลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้คัดเลือก ประชาชนจึงไม่สามารถฝากความหวังได้อยู่แล้วขอให้ท่านโปรดชี้แนะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลของท่านถูกตั้งข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการป้องปรามทุจริตคอร์รัปชันมากมาย โดยเฉพาะมาตรฐานในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใกล้ตัวและเครือญาติ ท่านถูกวิจารณ์อย่างไม่ถูกต้องว่ามีการครอบงำองค์กรอิสระที่กำกับเรื่องนี้ และล่าสุด ท่านถูกตั้งข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้องว่า รัฐบาลของท่านมีการฉวยโอกาสหาประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในเรื่องการบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันไวรัส ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญ golden period ของการแพร่ระบาดไวรัส ที่ท่านจะแสดงแก่ประชาชนได้ว่าข้อสงสัยเหล่านั้นไม่ถูกต้อง แสดงถึงความจริงใจที่จะรักษากระบวนการถ่วงดุลและความโปร่งใสในการทำงานดังนั้น ท่านผู้นำผู้ซึ่งในอนาคตต่อไปจะถูกจารึกชื่ออย่างโดดเด่นไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงไม่ควรจะละทิ้งโอกาสนี้

ที่มา