posttoday

โพล ชี้ "1ปีหลังเลือกตั้ง" สส. ยังแสดงบทบาทการเมืองแบบเดิม ๆ

28 มีนาคม 2563

นิด้าโพล เผย "1 ปี หลังเลือกตั้ง" ร้อยละ 36.99 มอง สส. ยังแสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ ด่ากันไปมา ชอบอ้างประชาชน ขณะที่ ร้อยละ 34.13 ระบุ หากวันนี้้เป็นวันเลือกตั้งจะลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองอื่น

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เเรื่อง “1 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 และ 20 มี.ค. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจาย ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,275 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปี หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562

จากการสำรวจ พบว่า เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของ ส.ส. ในช่วงที่ผ่านมา 1 ปีหลังการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.99 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน รองลงมา ร้อยละ 33.33ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. หายหน้าไปเลย ร้อยละ 28.80 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่ง ร้อยละ 13.21 ระบุว่าส.ส. จากพรรคที่เป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 11.22 ระบุว่า ส.ส. ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบประชาชนร้อยละ 7.24 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาฯ มีความกระตือรือร้นในการทำงานเพื่อประชาชน ร้อยละ 6.92 ระบุว่า ส.ส. จากพรรคที่เป็นฝ่ายค้าน ใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล ร้อยละ 2.78 ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพในการทำงานเพื่อประชาชน และร้อยละ 3.18 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่สำรวจเมื่อเดือนมิ.ย. 2562 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า หลังการเลือกตั้ง ส.ส. หายหน้าไปเลย ส.ส. ส่วนใหญ่มัวแต่ต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่ง ส.ส. จากพรรคที่เป็นรัฐบาล เอาแต่จับกลุ่มต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภาฯ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพื่อประชาชน ส.ส. จากพรรคที่เป็นฝ่ายค้านใช้เป็นแต่วาทกรรมเพื่อล้มรัฐบาล และส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาทใหม่ในการเป็นมืออาชีพ ในการทำงานเพื่อประชาชน มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ส.ส. ส่วนใหญ่แสดงบทบาททางการเมืองแบบเดิม ๆ เช่น ด่ากันไปมา และชอบอ้างประชาชน และส.ส. ที่เลือกไปขยันลงพื้นที่พบประชาชน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิม หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.13 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอื่น รองลงมาร้อยละ 33.10 ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก ร้อยละ 11.93 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายของพรรค ความรู้ความสามารถของตัว ส.ส. และดูว่า ส.ส. ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน ร้อยละ 10.42 ระบุว่า ไปเลือก แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ร้อยละ 4.06 ระบุว่า ไม่ไปลงคะแนน และร้อยละ 6.36 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 3 เดือนหลังการเลือกตั้งทั่วไป ที่สำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส. หรือ พรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอื่น ไปเลือก แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ไม่ไปลงคะแนน และอื่น ๆ ได้แก่ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายของพรรค ความรู้ความสามารถของตัว ส.ส. และดูว่า ส.ส. ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น