posttoday

บิ๊กตู่คุม"ศอฉ.โควิด"เองพร้อมตั้ง8ศูนย์จัดการเบ็ดเสร็จ

24 มีนาคม 2563

เปิดโครงสร้าง"ศอฉ.โควิด"นายกฯเป็นประธาน "ประทีป "นั่งเลขาฯพร้อมผุด 8 ศูนย์แยกบริหารจัดการทุกด้าน

ความคืบหน้าในการเตรียมประกาศบังคับใช้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ล่าสุด ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 โดยมีนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และพล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พร้อมตัวแทนทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ เข้าร่วมประชุม เพื่อวางโครงสร้างการทำงานศอฉ.โควิด-19 และเตรียมแบ่งหน้าที่แต่ละหน่วยงาน ก่อนนายกรัฐมนตรี จะป็นผู้แถลงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยตนเองในวันที่ 26 มี.ค. นี้

ทั้งนี้เบื้องต้นในส่วนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น จะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีนายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการศูนย์ฯ

ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์ฯ และศูนย์ปฏิบัติงาน 8 ศูนย์ ได้แก่

1.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

2.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนประชาชน ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม หน่วยงานฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหาร ดูแล

3.ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล

4.ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีดูแล

5.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) รับผิดชอบ

6.ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมดูแล

7.ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล

8.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มีกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมดูแล

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกัน ยังหารือถึงมาตรการเบื้องต้นที่เตรียมการนำมาดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว เช่น การไม่เข้าพื้นที่เสี่ยง (ตามประกาศ กทม.) การไม่ข้ามเขตจังหวัด (คำแนะนำ) การปิดสถานที่เสี่ยงใน กทม. และทั่วประเทศ การปิดช่องทางเข้าประเทศ

มาตรการที่เกี่ยวกับกรณีของชาวต่างชาติที่ยังออกนอกประเทศได้ มาตรการสำหรับบุคคลบางประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เด็ก มาตรการห้ามกักตุนสินค้า การให้เปิดทำการสถานที่ การเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วย ในแง่ของสถานที่และแพทย์ การจัดกิจกรรมอื่น การห้ามชุมนุม มาตรการกำกับดูแลการเสนอข่าว การดูแลรักษาความเรียบร้อย มาตรการป้องกันโรค

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี ยังยึดหลักการไม่ปิดประเทศ เพื่อให้คนไทยกลับเข้าประเทศได้ และยังไม่ปิดจังหวัด โดยประชาชนยังกลับบ้านได้ แต่ต้องมาตการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราบุคคลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งยังไม่ปิดบ้านเพราะมีผลกระทบมาก