posttoday

สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเพิ่มอีก 1 คน

28 กุมภาพันธ์ 2563

สาธารณสุข แถลง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 1 รายเป็นไกด์คนไทยนำเที่ยวประเทศเกาหลี ยอดสะสม 41 คน วอนสังคมอย่ารังเกียจ ผู้เดินทางกลับประเทศเสี่ยง เพื่อไม่ให้ปกปิดความจริง

เมื่อวันที่ 28 กพ. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แถลงว่าพบผู้ป่วยคนไทยที่ยืนยันผลการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยวัย 25 ปี ประกอบอาชีพไกด์นำเที่ยวเกาหลีใต้ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันที่ 24 ก.พ.63 ด้วยอาการไข้ ไอ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อ ขณะนี้ได้รับตัวไว้ในสถาบันบำราศนราดูร ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ 2 คน ส่วนเพื่อนร่วมทัวร์ และผู้สัมผัสบนเครื่องบินอยู่ในระหว่างการติดตาม ทั้งนี้ ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว ทำให้วันนี้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมในไทยเพิ่มเป็น 41 คน

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยที่หายดีสามารถกลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย เป็นชาวจีนอายุ 30 ปี ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.เอกชน ก็รักษาหายดีและกลับบ้านได้แล้วเช่นกัน ทำให้ล่าสุดมียอดผู้ที่รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 28 ราย ยังอยู่ใน รพ.อีก 13 ราย ส่วนผู้ป่วยหนัก 2 ราย ที่นอนรักษาตัวอยู่ในสถาบันบำราศฯ ซึ่งรายแรกมีอาการของวัณโรคร่วมด้วย ส่วนอีกรายเป็นไข้เลือดออกร่วมด้วยนั้น ขณะนี้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการของทั้ง 2 ราย ออกมาเป็นลบ ไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบทางเดินหายใจแล้ว แต่ยังต้องอยู่ในห้องความดันลบ และยังใช้เครื่องช่วยหายใจ อาการโดยรวมทรงตัว อยู่ในระยะการพักฟื้นให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น โดยมีทีมแพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.-27 ก.พ.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,437 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 84 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 2,353 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,446 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 991 ราย

ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเคสปู่-ย่า-หลาน ขณะนี้ผลตรวจที่เหลืออีก 4 คน ออกมาแล้วเป็นลบ คือไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 จากที่เมื่อวานนี้ผลตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด 97 คน ออกมาเป็นลบเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ทั้งหมด 101 คนจะยังต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการต่อเนื่องอีก 14 วัน

นพ.สุขุมกล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มผู้ป่วยรอการตรวจ ที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย เช่น คนในครอบครัวผู้ป่วย บุคลากรทางกรแพทย์ ที่ไม่ได้ป้องกันตัวเองตามมาตรฐาน เมื่อวาน(27ก.พ.)มีจำนวน 373ราย ดูแลใกล้ชิด ส่วนมาตรการการเฝ่าระวังดูแลตัวเอง ตามมาตรฐาน 1.กลุ่มจำเป็นที่ต้องแยกกักกันตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มีความเสี่ยงต้องแยกกักกันเข้มงวด 2.ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น อยู่ในครอบครัว ร่วมชั้นเรียน ร่วมยานพาหนะ บุคลกรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่เครื่องป้องกัน แนะนำให้ดูแลตัวเองที่บ้าน แยกการทำงาน อีกกลุ่มพวกเดินทางปรเทศเสี่ยง ขอความร่วมมือ งดกิจกรรมทางการสังคม ดูแลตัวเอง 14 วัน เลี่ยงไปที่สาธารณะ 3.กลุ่มอยู่ชุมชนเดียวกัน แนะนำกินร้อนช้อนกลาง

"อยากกราบเรียนพี่น้องปรเชาชน คนที่มาประเทศระบาดไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด -19 ทุกคน สังคมอย่าตีตรา ล้อเลียน อย่ารังเกียจ สถานการณ์จะดีขึ้นได้ เราต้องช่วยกัน ควรชื่นชมที่เขากล้าหาญกล้าบอกความจริงเรา ถ้าไปล้อเลียน รังเกียจเขาอาจไม่กล้าบอก เมื่อนั้น อาจจะทำให้เขาคนใดคนหนึงกลายเป็น super spreader ได้"ปลัดสธ.กล่าว

โดยวันนี้ กระทรวงสารณสุขได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อการพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเน็ตไทย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยจะร่วมกันแชร์ความรู้ในการสร้างวัคซีนเพื่อต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ และจะนำมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาให้ประเทศไทยมีวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าว

สธ.แถลงพบผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเพิ่มอีก 1 คน

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบสำคัญในการตรวจสอบความพร้อมของวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย และถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้วัคซีนในการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 โดยจะมีการร่วมมือกับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนด้วย คาดว่าจะประสบผลสำเร็จ และสามารถนำวัคซีนมาใช้ในอีกราว 1 ปีครึ่ง- 2 ปีนับจากนี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่คัดกรองในเบื้องต้นแล้วไม่มีอาการว่า ขอความร่วมมือให้สังเกตอาการอยู่ที่บ้านให้ครบ 14 วัน แต่หากมีภารกิจสำคัญจะต้องทำ ขอให้ใช้วิจารณญานให้มากในการจะออกไปสู่ที่ชุมชน

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการแนะนำประชาชนที่จะเข้ามารับการตรวจไวรัสโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไอ มีไข้ เจ็บคอ มีน้ำมูก และมีประวัติเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีรายงานการระบาด ซึ่งหากเข้าเกณฑ์ตามนี้ก็จะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาพยาบาลตามขั้นตอน

ส่วนรายที่กลับจากต่างประเทศเหมือนกัน แต่ยังไม่มีอาการ กรณีนี้ไม่แนะนำให้ไปตรวจ เพราะการตรวจในช่วงที่ยังไม่มีอาการก็จะไม่ทราบผลว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ซึ่งการตรวจแล้วไม่เจอเชื้อในเวลานั้นก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะไม่ได้เป็น เพราะโรคนี้จะต้องเฝ้าระวัง 14 วัน เป็นระยะเวลาที่นานสุดของระยะฟักตัว

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบาดวิทยาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐาน ดังนั้นเรื่องมาตรการการเฝ้าระวังและคำแนะนำในการปฏิบัติตัว จึงต้องมีการกักกันตนเอง (Self-Quarantine at home) ตามมาตรฐานการป้องกันโรค โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีความจำเป็นต้อง แยกกัก กักกัน คุมไว้สังเกตอาการ (ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558) ได้แก่ 1. ผู้เข้าข่ายเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI ซึ่งกลุ่มนี้มีทั้งอาการและประวัติเสี่ยง ต้องแยกกักอย่างเข้มงวด 2. ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อสูง (High Risk Contact) กลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อสูงจากผู้ป่วย หรือผู้สงสัยว่าป่วย ได้แก่ ผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อนร่วมชั้นเรียน เพื่อนร่วมทำงาน ร่วมยานพาหนะ ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยตามนิยามของกรมควบคุมโรค รวมทั้ง บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใส่ PPE ตามมาตรฐานในขณะที่ให้การดูแลผู้ป่วยบุคคลดังกล่าวในกลุ่มนี้ มีความจำเป็นต้องกักกันตนเอง(Self-Quarantine at home) อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น งดกิจกรรมทางสังคม งดไปทำงาน งดไปโรงเรียนเรียน แยกของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น

กลุ่มที่ 2 กลุ่มไม่สัมผัสกับผู้ป่วยแต่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรค แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วย ขอให้ปฏิบัติตัว ดังนี้ เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ขอความร่วมมือลดกิจกรรมทางสังคม (Social Distancing) ให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน/ที่พัก เฝ้าระวังตนเองเป็นเวลา 14 วัน หลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น แต่หากมีอาการ ไข้ไอ เจ็บคอ ต้องพบแพทย์ทันที

กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับผู้ป่วย และประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากไปในที่ที่มีคนอยู่มาก