posttoday

"วิษณุ" เผยยังพอมีช่องรอดคดี “ฟิลลิปมอร์ริส”

27 กุมภาพันธ์ 2563

"วิษณุ"เชื่อคดี “ฟิลลิปมอร์ริส” ยังมีช่องทางเจรจา อัด “รัฐบาลปู” ทำบุหรี่ไทยเจ๊ง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ถ้าเราจะช่วยฟิลลิป มอร์ริส คงไม่ออกมาแบบนี้ เหมือนกับว่าถ้าเราจะแทรกแซงองค์กรกระบวนการยุติธรรมเหมือนกับรัฐบาลในอดีต มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ แต่เราเห็นว่าเราต้องการปกป้องสุขภาพคนไทย บุหรี่ไทย กฎหมายไทย โดยเฉพาะกฎหมายศุลกากรและความรู้สึกของคนไทยว่าต้องรักษาเกียรติภูมิของคนไทย จึงออกมาในลักษณะนี้ต่างหาก

ส่วนจะแพ้คดีที่สุดหรือไม่อย่างไร ยังมีเวลา ตนเชื่อในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่าจะมีช่องทางที่จะเจรจา เรามีวิธีและช่องทางอีกหลายอย่าง ถ้าพูดมากไปในสภาแห่งนี้จนได้ยินไปทั่วโลกจะเป็นปัญหาและกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในฐานะอาเซียนยังมีช่องทางที่จะเจรจาเรื่องบุหรี่

“ทีแรกตั้งใจว่าไม่จำเป็นต้องพูด แต่ขอกราบเรียนว่าเรื่องบุหรี่ตั้งแต่เราไปเป็นสมาชิก AFTA ตั้งแต่เราเข้าAEC เราต้องปฏิบัติตามพันธอาเซียน 10 ประเทศ รัฐบาลเริ่มตั้งแต่ 2550 จนถึงปัจจุบันออกพระราชกำหนดและออกประกาศกระทรวงการคลัง หลายคนอาจจะยังไม่ทราบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 53 เป็นต้นไป ด้วยข้อตกลงการที่บุหรี่จากประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนด้วยกัน เข้าไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนให้บุหรี่ไม่ว่าจะพันธุ์อะไรก็ตาม ภาษีเป็นศูนย์ เมื่อภาษีเป็นศูนย์ก็ไม่เกิด Philip Morris อีกต่อไป เขาไม่ต้องสำแดง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ชี้ “รัฐบาลปู” ทำบุหรี่ไทยเจ๊ง

นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นายศรัณย์วุฒิระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการทำลายบุหรี่ไทย ทำให้บุหรี่ไทยเจ๊ง และบุหรี่ต่างประเทศยึดตลาดในไทยนั้น ท่านอาจจะหมายถึงแก้ไขกฏหมายภาษีสรรพสามิตที่อาจเป็นต้นตอกฏหมาย โดยกฎหมายภาษีสรรพสามิตได้ลงมือตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งรัฐบาลใดไม่ทราบ และมาสำเร็จในปี 60 พ.ร.บ.สรรพสามิตก็ไม่ได้ทำให้เสียประโยชน์อะไร เพราะกรมสรรพสามิตได้รายงานว่าผลของการออกกฎหมายฉบับใหม่แม้จะเก็บภาษีบางตัวได้น้อย แต่เก็บภาษีบางตัวได้มากพอถัวเฉลี่ยกันแล้วเราสามารถที่จะมีรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมากกว่าสมัยที่ใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับเดิมเป็นอันมาก ส่วนปัญหาโรงงานยาสูบต้องแก้ด้วยวิธีการหลายอย่างโดยเฉพาะวิธีการบริหารจัดการ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กฎหมายภาษีสรรพสามิตได้กำหนดสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีมาในฉบับเก่า นั่นคือ บุหรี่ทุกชนิดทั้งในและนอกจะต้องเสียภาษี ซึ่งเราเรียกกันว่าภาษีเพื่อมหาดไทย 10% เดิมไม่เคยเก็บ และเข้ากองทุนผู้สูงอายุ อีก 2% ของราคา ซึ่งเราไม่เคยเก็บ พอเกิดกองทุนผู้สูงอายุและภาษีเพื่อมหาดไทยก็กระทบกันหมด บุหรี่นอกก็กระทบ บุหรี่ในก็กระทบ

เมื่อกฎหมายสรรพสามิตออกมาก็ได้มีการออกกฎกระทรวงมาฉบับหนึ่ง ความต้องการคือต้องการช่วยบุหรี่ในประเทศ เดิมบุหรี่นอกเสียภาษีแบบหนึ่ง บุหรี่ในประเทศเสียภาษีอีกแบบหนึ่ง ทำให้WTOประท้วง เราจึงต้องทำให้เสียภาษีแบบเดียวกัน แต่เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้บุหรี่ในประเทศได้ประโยชน์ ซึ่งในเวลานั้นก็ได้ออกกฎกระทรวงเมื่อปี 60 ว่า ถ้าราคาต่อซองต่ำกว่า 60 บาทให้เก็บภาษี 20% แต่ถ้าขายเกิน 60 บาทจะเก็บภาษี 40% พอกฏกระทรวงออกมา บุหรี่ไทยกับบุหรี่นอกสวนทางกัน โดยบุหรี่ไทยขึ้นเป็น 90-95 บาทจึงเจอภาษี 40%

ส่วนบุหรี่นอกก่อนหน้านี้ขายเกิน 60บาท ก็ลดต่ำกว่า60บาท ทำให้เขาเสียภาษีเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ และทุกซองเข้ากองทุนผู้สูงอายุและภาษีเพื่อมหาดไทยเหมือนกัน ซึ่งก็ทำให้บุหรี่ไทยเกิดปัญหายืนยันอีกครั้งเราไม่เคยไปก้าวก่ายแทรกแซงทุจริตหรือวิ่งเต้นหรือใช้ความกดดันอะไรใครทั้งหมด ส่วนเรื่อง WTO ขอให้วางใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยความสงบด้วยความราบรื่นต่อไป