posttoday

นศ.จุฬาฯ-เกษตรฯชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองต้านความอยุติธรรม

24 กุมภาพันธ์ 2563

นักศึกษาจุฬาฯ-ม.เกษตรฯจัดชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบหลายปี ส่งสัญญาณไม่พอใจปมตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ลานข้างหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีการจัดกิจกรรม “จุฬารวมพล” ภายใต้แนวคิด “เพราะเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” โดยมีนิสิตทยอยเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ราว 16.00 น. โดยมีตำรวจจาก สน.ปทุมวัน เดินทางเข้าสังเกตการณ์ ภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่น มีนิสิตร่วมกันนำป้ายผ้าจากคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเคยถูกปลดมาวางบนพื้น มีความว่า “No Privacy No Security No Democracy จบ สวัสดี”

ทั้งนี้ มีการประกาศเชิญชวนให้ร่วมกันติดแฮชแท็ก #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป สื่อถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นหนึ่งในเสาหลักด้านการศึกษาของประเทศจะยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยของประเทศ จากนั้นเป็นการอ่านบทกวี ผลงานนิสิตจุฬาฯ นามปากกา “คนสาธารณ์” เนื้อหาเกี่ยวกับอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ถูกทำลายลง ต่อมาเวลาประมาณ 16.40 น. นิสิตจากคณะต่างๆ ผลัดกันขึ้นปราศรัย

นายกนิษฐ์ วิเศษสิงห์ นิสิตชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้จัดงาน ที่ผ่านมาเวลานึกถึงการชุมนุมคนมักนึกถึงแต่โดมเท่านั้น แต่ในวันนี้เพื่อนพ้องชาวจุฬาฯ ร่วมกันออกมาแสดงพลังทำให้รู้สึกปลื้มใจมาก ย้อนไปเมื่อ 80 ปีก่อน จุฬาฯ เคยชุมนุมเรียกร้องให้อินโดจีนคืนดินแดนที่สูญเสียไป มีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน นั่นเป็นครั้งแรกของการตั้งขบวนนักศึกษา ต่อมาใน พ.ศ.2500 นิสิตจุฬาฯ ก็เป็นกลุ่มแรกที่เรียกร้องประชาธิปไตย

นศ.จุฬาฯ-เกษตรฯชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองต้านความอยุติธรรม

ด้าน นายสิรภพ อัตโตหิ นิสิตชั้นปี 3 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรามารวมกันในที่นี้ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1.ความรัก ไม่ใช่รักพรรคอนาคตใหม่ แต่รักประชาธิปไตย 2.ความเกลียด ไม่ใช่เกลียดรัฐบาล แต่เกลียดความอยุติธรรม การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้เห็นว่า ประชาชนไร้ความหมาย คุณค่า สิทธิ เสียงประชาชนไม่มีค่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงการชุบตัวให้เป็นคนใหม่เพื่อบอกว่า มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เป็นเพียงข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ นายนรากร พิสุทธิ์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า พวกตนมารวมตัวในวันนี้ ไม่กลัวว่าจะหมดอนาคต ถ้ากลัวคงไม่มา สิ่งที่กลัวคือประเทศชาติจะกลายเป็นเช่นนี้ อยากบอกผู้ใหญ่ว่า อำนาจเป็นของประชาชน ขอเรียกร้องความเป็นธรรม อนาคตไม่รู้จะเป็นอย่างไร แต่เยาวชนอย่างเราอย่าสิ้นหวัง

ต่อมาในเวลา 17.30 น.วันเดียวกัน บริเวณหอประชุมใหญ่ม.เกษตรศาสตร์ (ประตูพหลโยธิน) กลุ่มนิสิต ม.เกษตรศาสตร์จัดกิจกรรม “มอกะเสดไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ” เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพให้กับสังคม โดยมีนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทยอยเข้าร่วมตั้งแต่เวลา 17.00 น.

นอกจากนั้น บริเวณจัดงานมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนแจกเสื้อ ซึ่งมีข้อความ “เห็นหัวกูบ้าง” พร้อมแจกเอกสารซึ่งเป็นเนื้อเพลงมาร์ชเกษตรศาสตร์ และเพลงทุ่งฝันวันใหม่ ประกอบการทำกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีการชูป้ายผ้าข้อความ #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ พร้อมนำป้ายผ้าให้ผู้สนใจร่วมเขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก

นศ.จุฬาฯ-เกษตรฯชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองต้านความอยุติธรรม

นายวุฒิ นิสิตชั้นปีที่ 3 กล่าวปราศรัยบางตอนว่า ขอให้ดูแลและปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของนิสิตปัจจุบัน ซึ่งมักมีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งช่วงสอบ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาค่าบริการวินมอเตอร์ไซค์ภายในมหาวิทยาลัยที่อยากให้ช่วยตรวจสอบว่าค่าส่วนต่างหายไปไหน อีกทั้งขอให้อาจารย์ทุกท่านอย่านำทัศนคติส่วนตัวมาใช้ในการให้คะแนน หรือตัดเกรดนิสิต สุดท้ายอยากฝากไปถึงสภานิสิตให้แสดงจุดยืนด้านการเมือง

จากนั้น เป็นการกล่าวมอตโตประจำสถาบัน “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน” ร้องเพลงชาติ เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัย เพลงสามัญชน และกล่าวปราศรัยช่วงต่อไป

นศ.จุฬาฯ-เกษตรฯชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองต้านความอยุติธรรม

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ตั้งแต่ทำงานกิจกรรมการเมืองในสมัยเป็นนักศึกษาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เท่าที่จำได้ ผมยังไม่เคยเห็นเวทีปราศรัยการเมืองกลางแจ้งที่จัดโดยนิสิตนักศึกษาในรั้วจุฬาฯ, และเกษตรศาสตร์ มาก่อนเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันนี้ (ณ ตอนนี้เลย) และที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานจึงเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นปรากฏการณ์ที่มีพลังมากในรอบสองทศวรรษ ตอนนี้ ใครอยู่ใกล้ที่ไหน ไปแสดงพลังที่นั่น นิสิตนักศึกษาตื่นแล้ว พลวัตรของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว “Injustice anywhere is a threat to justice everywhere”-Martin Luther King Jr.-ประชาชนจงเจริญธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ24 กุมภาพันธ์ 2563

ป.ล. พรุ่งนี้ ยังมีการจัดงานคล้ายกันที่มหาวิทยาลัยมหิดล และมะรืนนี้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

นศ.จุฬาฯ-เกษตรฯชุมนุมแสดงพลังทางการเมืองต้านความอยุติธรรม