posttoday

มติสภา242เสียงคว่ำญัตติตั้ง "กมธ.ศึกษาต้านรัฐประหาร"

20 กุมภาพันธ์ 2563

ที่ประชุมสภามีมติ242 : 215 เสียง ไม่เห็นด้วย ตั้ง "กมธ.ศึกษาต้านรัฐประหาร" ปิยบุตรชี้รัฐประหารเป็นสาเหตุสร้างความแตกแยกสุดขั้ว ไม่ใช่วาระใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็น "วาระแห่งชาติ"

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต เสนอโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติไม่เห็นด้วยให้ตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว 242 ต่อ 215 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

ก่อนการลงมติ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอภิปรายสรุปญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยระบุว่า ก่อนอื่นขอขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมอภิปรายญัตตินี้มากถึง 47 ท่าน แสดงว่าเราในฐานะ ส.ส.ให้ความสำคัญกับการต้านรัฐประหาร

ทั้งนี้ ตนอยากพูดถึงการรัฐประหาร 2 ครั้งสุดท้ายในประเทศไทยที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นฉันทามติสังคมทางการเมืองครั้งสุดท้าย เป็นสิ่งที่พลังการเมืองพร้อมใจกันยอมรับ เราเดินหน้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง เดินหน้าสามารถตรวจสอบได้ แต่ใช้มาระยะหนึ่งก็เกิดพลังการเมืองกลุ่มหนึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่า เกิดเสียงข้างมากและปราศจากการตรวจสอบ จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่แล้วก็ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยแก้ไข สุดท้ายนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

จากนั้น ก็มีการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเสมอ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนนำมาสู่การเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหารซ่อม นี่เป็นจุดเริ่มต้นการเมืองแตกขั้วถึงที่สุด โดยฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมเรื่องการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายอ้างความชอบธรรมเรื่องอำนาจตรวจสอบและการจำกัดการใช้อำนาจ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างชอบธรรมคนละด้าน แต่เรื่องปกติในระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ต้องมีความชอบธรรมทั้ง 2 ด้าน

"รัฐประหาร 2549 ทำลายความชอบธรรมทั้ง 2 ด้านนี้ ความชอบธรรมเรื่องการเลือกตั้งถูกทำลาย ทำให้คนจำนวนมากไม่เชื่อระบบรัฐสภา ความชอบธรรมเรื่องอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจ คนจำนวนมากเห็นว่ามีเรื่องของสองมาตรฐาน

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐประหารซ่อมที่ตามมาเมื่อพฤษภาคม 2557 ก็ไม่ใช่ทางออก เราไม่สามารถขจัดความขัดแย้ง เราไม่สามารถริเริ่มความปรองดอง เราไม่สามารถรื้อฟื้นระบบรัฐสภา เราไม่สามารถรื้อฟื้นระบบตรวจสอบ เราไม่สามารถสร้างหลักการประชาธิปไตยได้ แต่สิ่งที่เราได้คือนายพลคณะหนึ่งที่มาครองอำนาจและสืบทอดอำนาจยาวนานมาจนทุกวันนี้ นี่เป็นเหตุผลที่ผมร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำหรับสร้างฉันทามติในครั้งนี้" นายปิยบุตร กล่าว

ชี้ถ้าทุกฝ่ายพร้อมใจไม่ยอมรับ - ต่อต้าน คณะรัฐประหารไม่มีทางทำสำเร็จ

นายปิยบุตร กล่าวว่า รัฐประหารเกิดขึ้นและสำเร็จได้เมื่อมีการยอมรับและไม่มีการต่อต้าน ดังนั้น ถ้าทหารผู้ใต้บังคับบัญชานายพลที่ยึดอำนาจดื้อแพ่งไม่ทำตาม รัฐประหารไม่มีทางสำเร็จ ถ้าข้าราชการไม่ปฏิบัติตามนายพลคณะนั้นเขาก็จะไม่มีกลไกรัฐ ไม่มีมือไม้สำหรับทำงาน ถ้าเนติบริกรไม่รับใช้นายพลคณะนั้น เขาก็ไม่มีทางรู้ว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันตนเองและสืบทอดอำนาจนั้นทำอย่างไร ถ้าตุลาการไม่ยอมรับและกล้าตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบ ผู้ก่อการเป็นกบฏ รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ ถ้า ส.ส.ตระหนักว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร และเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ขัดแย้งกันได้ภายใต้กฎกติกาและพร้อมจับมือกันต่อต้าน รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ

ถ้านักธุรกิจใหญ่ นายทุนใหญ่ไม่ลงขัน ไม่เป็นทุน ไม่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้นายพลคณะนั้น การรัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ ถ้าสื่อมวลชนพร้อมใจนำเสนอข่าวต่อต้าน ไม่เรียกบิ๊ก ไม่เรียกลุง ไม่เรียกอา รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ และถ้าประชาชนคนไทยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าการัฐประหารเป็นสิ่งแปลกปลอม และร่วมกันต่อต้าน รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ

ชวนเพื่อนสมาชิกเดินหน้าต้านรัฐประหาร ล้างคราบไคล - เงาทะมึนรอบสภาผู้แทนราษฎร

นายปิยบุตร กล่าวว่า เราในฐานะ ส.ส.ชุดที่ 25 ที่ผ่านมามีมติตั้ง กมธ. ที่สำคัญหลายคณะ เราสามารถสร้างฉันทามติร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ และคณะหนึ่งที่มีความสำคัญ นั่นคือ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีอีกญัตติหนึ่งนั่นคือ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งไม่สามารถตั้งได้

สำหรับญัตติที่ตนกำลังอภิปรายนี้ ควรเป็นญัตติที่หาฉันทามติร่วมกันได้ เพราะญัตตินี้ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของ ส.ส.ทุกท่าน นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องการเอาชนะคะคานกัน แต่เป็นการประกาศศักดิ์ศรี ส.ส. ว่า เราเป็น ส.ส. ที่จะไม่ยอมจำนนรัฐประหาร เราไม่ใช่ผู้แทนคณะรัฐประหาร ดังนั้น ขอสมาชิกมองข้ามเรื่องมติวิปรัฐบาล แต่มองให้เห็นว่า ญัตตินี้ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงรัฐบาล การมี กมธ.ชุดนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปได้ แต่หากญัตตินี้จะกระทบใครก็คงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ยึดอำนาจมา คงกระทบรัฐมนตรีที่เป็นนายพลจำนวนมากที่ได้ดำรงตำแหน่งเพราะยึดมา

"ถ้าเราเพื่อนสมาชิกเอาเรื่องความมั่นคงรัฐบาลมาเป็นกังวลใจไม่ให้เห็นชอบ จะกลายป็นว่า ตกลงเราเป็นผู้แทนราษฎร หรือเป็นทหารที่ต้องรับฟังคำสั่งของนายพลที่ยึดอำนาจมา หากมติของที่ประชุมคือไม่ตั้ง กมธ.ชุดนี้ แสดงว่าคราบไคลรัฐประหารยังอยู่กับเรา แสดงว่าเงาทมึนของคณะรัฐประหารยังอยู่รอบสภา แต่ตรงกันข้าม ถ้าตั้งได้ ย่อมแสดงว่า ส.ส.เราพร้อมจับมือร่วมเดินหน้าไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดอีก เป็นการสร้างความหวังให้กับประชาชนอย่างแท้จริง"

นายปิยบุตร กล่าวว่า การอภิปรายสรุปญัตติครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการอภิปรายสรุปครั้งสุดท้ายของตนเองหรือไม่ เพราะถึงแม้ตนจะมั่นใจในข้อกฎหมายว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายชะตากรรมของตนก็อยู่ในมือศาลรัฐธรรนูญ ตนอยากขอแรง ส.ส. ร่วมสนับสนุนญัตตินี้ เพราะนี่ไม่ใช่วาระของตน นี่ไม่ใช่วาระพรรคอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่วาระพรรคฝ่ายค้าน นี่ไม่ใช่วาระฝ่ายรัฐบาล แต่นี่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ ส.ส. ต้องร่วมมือกัน มนุษย์เป็นผู้ขีดเขียนประวัติศาสตร์ ของให้ สส ร่วมกันยกมือเห็นชอบเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน