posttoday

อนาคตใหม่ชี้กองทัพทำMOUกับธนารักษ์ไม่ใช่ทางออกความโปร่งใส

17 กุมภาพันธ์ 2563

"วิโรจน์"? อนาคตใหม่? ชี้กองทัพทำMOUกับกรมธนารักษ์ไม่ใช่ทางออกของความโปร่งใส? หากต้องการทำให้โปร่งใสจริงต้องเปิดเผยงบการเงินทั้งหมด

ดร.วิโรจน์? ลักขณาอดิศร? ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่? กล่าวถึงกรณีที่? พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกับ กรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบกว่า เบื้องต้น การที่ ผบ.ทบ. ตระหนักถึงปัญหาของสวัสดิการเชิงธุรกิจ หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

แต่การทำข้อตกลง หรือ MOU ในโครงการในการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ ร่วมกับกรมธนารักษ์ แม้ว่าจะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหา แต่ถ้าหากเป้าหมายของการแก้ปัญหานี้ คือ "การสร้างความโปร่งใส และการวางกลไกที่ตรวจสอบได้" การทำ MOU นั้นเป็นแค่เพียงมาตรการที่ดึงเอากรมธนารักษ์ มาช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความโปร่งใสในระยะยาวได้

ยกตัวอย่างเช่น จากข่าวการลงนามใน MOU ประชาชน หรือสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจรู้ได้เลยว่า รายละเอียดใน MOU คืออะไร ตามข่าวระบุว่า ก่อนที่จะมีการลงนามใน MOU ผบ.ทบ. ได้ตรวจร่าง MOU ถึง 1 เดือนครึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปิดเผยให้กับสาธารณชนทราบว่า รายละเอียดใน MOU ที่ผ่านการตรวจทานของ ผบ.ทบ. แล้ว นั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง มีข้อยกเว้น หรือสิทธิพิเศษ ให้กับผู้ใด หรือในกรณีใดบ้าง

นอกจากนี้ ตามข่าวที่ระบุว่า กรมธนารักษ์จะมีการแบ่งสัดส่วนรายได้คืนให้แก่กองทัพบก ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2.5 - 5 บางอย่างก็ร้อยละ 7.5 นั้นมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร สามารถเปิดเผยได้หรือไม่ว่า ธุรกิจใดมีการแบ่งสัดส่วนรายได้เท่าใด เพื่อให้ประชาชน และสาธารณชนได้พิจารณาร่วมกัน

โดยทั่วไปแล้ว หากต้องการที่จะมีการตั้งต้นใหม่ให้ถูกต้อง ที่บางคนมักจะใช้คำว่า "ล้างบาง" สิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรก ไม่ใช่การทำ MOU มาทับสิ่งที่ทำกันอยู่เดิม แต่เป็นการตรวจสอบทางบัญชี และการเปิดเผยงบการเงินให้แก่สาธารณชนได้ร่วมตรวจสอบ เพื่อหาตรวจสอบว่า จุดไหนที่มีปัญหาการรั่วไหล หรือมีความไม่โปร่งใส เกิดขึ้น เพื่อจะได้ดำเนินการสอบสวน และจัดการตามระเบียบ กฎหมาย ให้ถูกต้องเสียก่อน

แต่ปัจจุบัน งบการเงินของธุรกิจกองทัพต่างๆ ต้องถือว่าตรวจสอบได้ยากมากๆ บางธุรกิจ ไม่สามารถหางบการเงินได้เลย ไม่รู้เลยว่า มีรายได้ และผลตอบแทนที่เป็นเงินนอกงบประมาณเท่าใด จากข่าวขนาดปลัดกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่ากิจการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก ได้กำไรกี่พันล้านบาท เมื่อนักข่าวสอบถามต่อไปยัง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ โดยเพียงแต่ให้คำตอบว่า กำไร จากกิจการทั้งหมดไม่ถึงพันล้านบาท

ที่สำคัญ ก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกด้วยว่า นับจากนี้เป็นต้นไป หลังจากที่มีการทำ MOU กับกรมธนารักษ์แล้ว จะมีการเปิดเผยงบการเงินของทุกๆ กิจการที่กองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนรายละเอียดของเงินนอกงบประมาณ ของกองทัพบกให้ประชาชนทราบหรือไม่อย่างไร จะเปิดเผยเป็นงบการเงินรายปี หรือรายไตรมาส

การเปิดเผยงบการเงิน และรายละเอียดของ MOU เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ยังไม่มีการพูดถึงเลย แล้วจะบรรลุถึง "ความโปร่งใส และกลไกการตรวจสอบ" ได้อย่างไร

อีกประเด็นหนึ่ง ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ หน่วยงานของรัฐที่มีรายได้เป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ได้มีเพียงกองทัพบกเท่านั้น ณ ขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากหน่วยงานอื่นๆ เลย อาทิ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กองทัพ

ทางแก้ปัญหานี้ ที่ยั่งยืนที่สุด ก็คือ การแก้ไข พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 61 วรรค 2 และวรรค 3 ที่ระบุว่า

"เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ ให้นํามาฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่นหรือได้ทําความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นอย่างอื่น เว้นแต่จะมีกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เงินนอกงบประมาณนั้นเมื่อได้ใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดําเนินงานตามวัตถุประสงค์จนบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการนั้นแล้ว มีเงินคงเหลือ ให้นําส่งคลังโดยมิชักช้า ทั้งนี้ การนําเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนดโดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี"

นั้นควรแก้ไข โดยให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องนำเงินนอกงบประมาณของตนมาฝากไว้ที่กระทรวงการคลังทุกกรณี และหากมีเงินคงเหลือ ก็ต้องนำส่งคลังทุกกรณี เช่นกัน

หากมีความจำเป็น หรือเพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ ก็เป็นที่เข้าใจได้ แต่ต้องตราเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ที่มาจากปวงชนชาวไทย ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ควรอนุญาตให้ให้ผู้หนึ่งผู้ใด สามารถทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นได้ ซึ่งประชาชน หรือแม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็มิอาจทราบได้เลยว่า หน่วยงานไหนไปทำข้อตกลงอะไรไว้กับกระทรวงการคลังไว้บ้าง และรานละเอียดจ้อตกลงนั้นเป็นอย่างไร ไปตกลงกันตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่สำคัญก็คือ ใครที่มีอำนาจในการลงนามข้อตกลงนั้น

ตราบใดก็ตาม หากไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 61 วรรคสอง และวรรคสาม ในอนาคต MOU ที่เคยทำเอาไว้ในวันนี้ ก็อาจจะถูกยกเลิก หรือถูกเปลี่ยนแปลง โดย ผบ.ทบ. ท่านใหม่ โดยที่ประชาชน ไม่รับรู้เลย ก็ได้

ดังนั้น การจะทำให้กองทัพมีความโปร่งใส ที่แท้จริงจึงไม่ใช่แค่การทำ MOU แต่เป็นการเปิดเผยงบการเงินทั้งหมด ทั้งในปัจจุบันที่เป็นอยู่นี้ และในอนาคต

กิจการใด ที่กองทัพไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวพันแล้ว เพราะไม่ใช่ภารกิจหลักของกองทัพ ก็ควรพิจารณาคืนให้แก่รัฐไป ส่วนกิจการที่ยังดำเนินการอยู่ ก็ต้องเปิดเผยงบการเงินให้สาธารณชนรับทราบ มีการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานทางบัญชีอย่างถูกต้อง โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

พร้อมกับผลักดันการแก้ไข พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ครอบคลุม "เงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินแผ่นดิน ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด" ซึ่งจะเป็นกลไกการตรวจสอบ ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่?