posttoday

ศักดิ์สยาม พอใจเครื่องฟอกอากาศบนรถเมล์ช่วยลด PM 2.5 เล็งติดเพิ่มครบ 3 พันคัน

15 กุมภาพันธ์ 2563

รมว.คมนาคม พอใจทดลองเครื่องฟอกอากาศเคลื่อนที่บนรถเมล์ ขสมก. ช่วยลดค่าฝุ่น PM 2.5 จ่อติดเพิ่มครบ 3,000 คัน เตรียมรายงาน ครม.รับทราบ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทดลองติดเครื่องฟอกอากาศบนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ว่า จากการรายงานผลการทดสอบของคณะทำงานฯ ที่ได้ทดสอบกับรถเมล์ ขสมก. 1 คันแล้วนั้น พบว่า การทดสอบอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ กล่าวคือ เมื่อรถเมล์ ขสมก.ที่ติดเครื่องฟอกอากาศบนหลังคารถ สูงประมาณ 25 ซม. โดยมีไส้กรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งหากใช้ความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงนั้น สามารถกรองอากาศได้ 20,000 ลูกบาตรเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ก่อนที่อากาศจะผ่านเครื่องฟอกอากาศนั้น พบว่า เครื่องวัด PM 2.5 ระบุค่าวัดอยู่ที่ 48-51 ไมครอน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่มีพบฝุ่น PM 2.5 แต่เมื่อผ่านเครื่องกรองอากาศแล้ว อากาศที่ออกมาอยู่ที่ 1-2 ไมครอนเท่านั้น ถือว่าต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการทดสอบ 30 วัน ก่อนที่จะประเมินผล และนำไปดำเนินการกับรถเมล์ ขสมก. ที่มีกว่า 3,000 คันในปัจจุบัน , รถ บขส. และรถของราชการด้วย ขณะเดียวกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการให้เกิดความชัดเจน ก่อนรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการในเรื่องของ PM 2.5 ต่อไป

“ขณะนี้ ยังถือเป็นเรื่องของการทดสอบ เพราะฉะนั้น ตัวแบบวัสดุรูปแบบที่จะนำมาทำต้องใช้เวลา และจุดที่ติดตั้งถ้าไม่ติดบนหลังคา แต่นำมาติดตรงบริเวณเหนือกันชน จะมีประสิทธิภาพในการรับอากาศได้มากน้อยแค่ไหน ความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างไร ต้องรอดูผลการทดสอบต่อไป โดยรถเมล์ ขสมก.ที่มี 3,000 คันนั้น จากผลการทดสอบ หากนำมาติดนั้น จะฟอกอากาศทั้งวันได้ 30 ล้านลูกบาตรเมตร ถือเป็นการช่วยฟอกอากาศตามเส้นทางที่รถวิ่ง โดยในอนาคต คณะทำงานจะออกแบบรูปแบบให้ประชาชนนำแบบไปดำเนินการได้เอง ผู้สร้างควรเป็นผู้ซ่อม ไม่ใช่ว่าผู้สร้างไม่รับผิดชอบในการที่จะแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็ลำบาก เราต้องช่วยกัน"

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงเรื่องต้นทุนในการดำเนินการ ว่า เบื้องต้นราคากล่องอยู่ที่ 2,000 บาทต่อกล่อง ขณะที่ไส้กรองราคาประมาณลูกละ 500 บาท ใช้ได้ประมาณระยะเวลา 400 ชม. หรือ 2 สัปดาห์ รวมประมาณ 3,000 บาท แต่ยังกำหนดชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบนำร่องมาทดลอง โดยคณะทำงานได้เสนอว่า หากใช้วัสดุเป็นไฟเบอร์กลาส แล้วสามารถทำได้ จะทำให้ต้นทุนลดลง รวมถึงโดยในอนาคตมองว่า ถ้าศึกษาอย่างจริงจัง จะสามารถพัฒนาไส้กรองขึ้นมาเองได้จะช่วยให้ต้นทุนต่ำลงได้อีกด้วย ทั้งนี้ ได้นำงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ในปัจจุบันมีเงินในกองทุนฯ ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท มาใช้ดำเนินการ