posttoday

ภาคประชาชน12องค์กรยื่นกมธ.ดันกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

30 มกราคม 2563

ภาคประชาชน 12 องค์กรภาคประชาชน ยื่นกมธ.เสนอผลักดันร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน-บังคับสูญหาย "ปิยบุตร" หนุนเต็มที่พร้อมดันเข้าสภาฯ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 63 กรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย น.ส.พรรณิการ์ วานิช รองประธาน กมธ. นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. ร่วมต้อนรับภาคประชาชน 12 องค์กร ที่มายื่นหนังสือเพื่อให้ช่วยผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับประชาชน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ขอบคุณภาคประชาชนทั้ง 12 องค์กร ที่เป็นตัวแทนเสนอร่างกฎหมายนี้ ทั้งนี้ กมธ.เราให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนษยชน เราพร้อมทำงานกับภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ

"เราเห็นด้วยกับหลักการที่ภาคประชาชนเสนอเข้ามา และจะผลักดันต่อไปให้กับ กมธ.ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้เชิญเพื่อน ส.ส.ให้ลงชื่อ ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และกลายเป็น ร่าง พ.ร.บ. ของสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วย ส.ส.จากหลากหลายพรรคการเมืองต่อไป และทำให้สังคมเห็นว่า ส.ส.ประเทศไทยจำนวนมาก ให้ความสำคัญ กับการป้องกันซ้อมทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย"

"ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แต่เพียงการอนุวัติการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน หรือการที่ใช้อำนาจรัฐบังคับบุคคลให้สูญหาย ประเทศไทยจะต้องไม่มีบุคคลที่ถูกซ้อมทรมาน ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อแบบ หะยีสุหลง, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, พอละจี รักจงเจริญ, นายเด่น คำแหล้, อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, ฤทธิรงค์ ชื่นจิต, สุรชัย แซ่ด่าน ฯลฯ อีกต่อไป ประเทศไทยต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจรัฐซ้อมทรมานผู้คนหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย" นายปิยบุตร กล่าว

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน 12 องค์กร กล่าวว่า รัฐสภาจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทย เรามีปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน ทำให้บุคคสูญหายในหลายกรณี และเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองตลอดมา โดยทั่วโลกได้เห็นปัญหานี้ และได้ออกอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ฉบับ ซึ่งประเทศไทยเราเห็นด้วยในหลักการเหล่านี้ และพยายามนำมาผลักดันให้เป็นกฎหมายในประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ออกมา รวมถึงร่างของรัฐบาลยังเป็นร่างที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ

"ภาคประชาชนจึงมีความกังวล 1. เรื่องความล่าช้าที่จะทำให้เกิดปัญหา คือยังมีคนคนถูกซ้อมถูกอุ้มหายอยู่เรื่อยๆ เรื่องเก่าไม่คลี่คลาย เรื่องใหม่ก็รอเกิดขึ้น และ 2. ร่างกฎหมายของรัฐบาลออกมาแล้วยังไม่นำสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงได้ ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงร่วมกัน ร่างกฎหมายภาคประชาชน อิงจากหลักหว่างประเทศ ผู้ประสบปัญหาจริง และหน่วยงานที่ติดตามจัดทำเรื่องนี้ ได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...ฉบับประชาชน โดยหวังว่า กมธ.ชุดนี้ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ผลักดันให้ออกมาโดยเร็ววันต่อไป" นายสุรพงษ์ กล่าว