posttoday

"ราเมศ" โพสต์ ข้อกฎหมายเบื้องต้น กรณี ส่งร่างพรบ.งบฯ63 ให้ศาลรธน.วินิจฉัย

25 มกราคม 2563

โฆษกปชป. โพสต์ ข้อกฎหมายเบื้องต้น กรณี ส่งร่างพรบ.งบฯ63 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โฆษกปชป. โพสต์ ข้อกฎหมายเบื้องต้น กรณี ส่งร่างพรบ.งบฯ63 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ข้อกฎหมายเบื้องต้นกรณีการส่งร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

1.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ลำดับชั้นกฎหมายคือร่างกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้น พระราชบัญญัติ แต่เป็นร่างกฏหมายที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน คือ เรื่องงบประมาณรายจ่ายของประเทศทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงบประจำหรืองบลงทุนต่างๆทั้งหมด

2. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ขณะนี้ถือว่าได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามหลักรัฐธรรมนูญในเรื่องกรอบระยะเวลาเรียบร้อยแล้ว คือ
-สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอยู่ในกรอบเวลา 105 วัน
-วุฒิสภาพิจารณาอยู่ในกรอบเวลา 20 วัน
มีความสมบูรณ์ตามมาตรา 143 ในเรื่องกรอบระยะเวลา

3.เมื่อเป็นร่างพระราชบัญญัติและผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วก่อนส่งร่างพระราชบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องชะลอไว้ 3 วันเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่าจะเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.หรือรวมกันไม่น้อยกว่า 1ใน 10 เห็นว่า

-ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือ
-ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ก็ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีการพิจารณาวินิจฉัย

4.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อมี ส.ส.กดบัตรแทนกันก็จะผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่สมาชิกหนึ่งคนย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน

ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้คือกระบวนการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส.ส.ก็เข้าชื่อกันยื่นคำร้องตามมาตรา 148 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประธานสภาก็ต้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำการวินิจฉัยว่าการกดบัตรแทนกันนำไปสู่กระบวนการตราที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีก็จะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้

ที่มีหลายคนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน เป็นการยกข้อกฎหมายที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญ

เพราะข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นไปตามหลักมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้ แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาให้โดยเร็วเพราะเป็นเรื่องสำคัญ

ที่หลายคนอ้างเรื่องกำหนดกรอบระยะเวลา 15 วันให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ความจริงคือมาตรา 144 ที่อยู่ในช่วงระหว่างพิจารณางบประมาณหากมี ส.ส.หรือ ส.ว.กระทำการเสนอ การแปรญัตติ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณจะกระทำมิได้
ส.ส.หรือ ส.ว.เขาชื่อกันเป็นจำนวน 1ใน 10 ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงไม่ต้องผ่านประธานสภา กรณีนี้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

เมื่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายก็ต้องรอผลการวินิจฉัยของศาล ว่าจะตกไปทั้งฉบับ หรือเฉพาะมาตราใดมาตราหนึ่ง แล้วกำหนดวิธีการอย่างไรเป็นดุลพินิจของศาล เพราะนั้นคือกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจตุลาการที่ทุกฝ่ายต้องน้อมรับ