posttoday

ตกทั้งฉบับ!! "โภคิน" ชี้ กระบวนการตราร่างพรบ.งบ63 ไม่ชอบด้วยรธน.

24 มกราคม 2563

“โภคิน” ชี้กระบวนการตราร่างพรบ.งบประมาณปี 63 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ตกไปทั้งฉบับ ยกคำตัดสินศาลรธน.เคยวินิจฉัยไว้ ระบุ รัฐบาลอ้างออก พ.ร.ก.แทนไม่ได้ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

“โภคิน” ชี้กระบวนการตราร่างพรบ.งบประมาณปี 63 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ตกไปทั้งฉบับ ยกคำตัดสินศาลรธน.เคยวินิจฉัยไว้ ระบุ รัฐบาลอ้างออก พ.ร.ก.แทนไม่ได้ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 63 ปมเสียบบัตรแทนกัน ว่า ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่าหากกระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างพระราชบัญญัติฯจะต้องตกไปทั้งฉบับ เพราะถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยมีแนวคำวินิจฉัยเมื่อปี 57 แล้วว่าเมื่อกระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบย่อมจะต้องตกไปทั้งฉบับ ไม่ได้ตกไปเฉพาะบางมาตรา ซึ่งการให้บุคคลลงคะแนนแทนตนเองไม่ว่าจะอ้างด้วยเหตุผลใดย่อมฟังไม่ขึ้น แม้ผู้นั้นจะอยู่ในห้องประชุมขณะที่มีการลงคะแนนก็ตาม

นายโภคิน  กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติฯตกไปทั้งฉบับจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการหาทางออกสำหรับกรณีนี้ ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถนำมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญมาปรับใช้ได้ เนื่องจาก มาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่กำหนดให้สภาฯพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณให้เสร็จภายใน 105 วัน หากไม่ทันตามกรอบเวลาจะให้ถือว่าสภาฯได้ให้ความเห็นชอบและตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอและส่งให้วุฒิสภาต่อไป แต่สำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกรณีของกระบวนการตราที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จะมาอ้างไม่ได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายงบประมาณที่สภาฯแก้ไขตกไปทั้งฉบับจะนำร่างกฎหมายงบประมาณฉบับของคณะรัฐมนตรีมาบังคับใช้ เพราะเป็นคนละกรณีกัน

เมื่อถามว่า รัฐบาลสามารถตราพระราชกำหนดเพื่อบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯได้หรือไม่ นายโภคิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นการเฉพาะว่าการจ่ายเงินแผ่นดินและการจัดทำงบประมาณจะต้องกระทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังได้บัญญัติเป็นการเฉพาะด้วยว่ากรณีใดบ้างที่คณะรัฐมนตรีสามารถตราพระราชกำหนดได้บ้าง จึงเห็นว่าการตราพระราชกำหนดในกรณีนี้ย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ