posttoday

"วิษณุ"แจงเสียบบัตรแทนผิดร้ายแรง-มีโทษ แนะรอศาลรธน.วินิจฉัยใช้ม.143กับพ.ร.บ.งบครั้งนี้ได้หรือไม่

23 มกราคม 2563

รองนายกฯวิษณุ ให้รอ ศาล รธน.วินิจฉัย ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ใช้ ม.143 กับ พรบ.งบฯ ครั้งนี้ได้หรือไม่ ชี้ เสียบบัตรแทนผิดร้ายแรง-มีโทษ

รองนายกฯวิษณุ ให้รอ ศาล รธน.วินิจฉัย ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-ใช้ ม.143 กับ พรบ.งบฯ ครั้งนี้ได้หรือไม่ ชี้ เสียบบัตรแทนผิดร้ายแรง-มีโทษ

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคระบุว่าเมื่อกระบวนการมิชอบกฎหมายก็จะมิชอบตามไปด้วย ไม่ต้องถึงขั้นตีความว่าเนื้อหามิชอบว่า  ก็ไม่เป็นไร และไม่ว่าอะไรก็ถูก อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่มีคนวิจารณ์กันในโซเชียลที่ว่า"วิษณุ บอกว่าการเสียบบัตรเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เป็นอะไรนั้น"   ยืนยันว่าตนไม่เคยพูด แต่ตรงกันข้าม ตนได้ระบุว่าเรื่องดังกล่าวให้แยกออกเป็น 2 เรื่องคือ การเสียบบัตรแทนกันหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องผลของ พรบ.งบประมาณฯ นั้น จะเกิดอะไรขึ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
                
“ซึ่งกรณีการเสียบบัตร ไม่ว่าเสียบแทนกัน หรือไม่แทนกันนั้น เป็นการเสียหายร้ายแรง และมีความผิด มีโทษด้วย แต่ที่ผมบอกว่าจะไม่เกิดผลกระทบน่ากลัวรุนแรง ที่ผมใช้คำว่าไม่ถึงขั้นวิบัตินั้น เป็นเรื่องของผลร่าง พรบ.งบประมาณฯ ซึ่งเมื่อกระบวนการไม่ถูก การจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมีสองอย่าง คือ 1. เนื้อหา และ 2. กระบวนการ ซึ่งในกรณีนี้เป็นเรื่องกระบวนการ เพราะฉะนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงดีที่สุดว่ากระบวนการอย่างนี้ชอบหรือมิชอบ ถ้าไม่ชอบแล้วจะต้องดำเนินการอย่างไร นั้นคือผลจะเป็นอย่างไร ส่วนคำว่าไม่ชอบก็จะค้างอยู่เท่านั้นว่าจะเกิดอะไร"  นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ กล่าวต่อว่าส่วนกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 และ 2557 ข้อเท็จจริงในตอนนั้นมีอย่างหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เรายังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ และตนก็ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อเท็จจริงคนละอย่างกัน มีสื่อบางฉบับไปบอกว่าเป็นคนละเรื่องนั้นไม่ใช่ เพราะตนไม่รู้จริงๆ ว่าเป็นการเสียบแทนหรือไม่ เสียบกี่ใบ แต่วันนี้ดูท่าจะออกมาแล้วว่า ต้องมีคนเอาบัตรไปกดเสียบ ไม่อย่างนั้นบัตรจะเด้งออกมา เพื่อแสดงว่าโหวตเห็นชอบได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนั้นก็ต้องตรวจสอบกันไป แต่ยืนยันว่าประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกันมีความผิด มีโทษร้ายแรง เกิดความเสียหายทั้งต่อภาพพจน์และสภาฯ ด้วย แต่ผลกระทบต่อร่าง พรบ. งบประมาณฯ นั้น ไม่น่าจะร้ายแรงแต่อย่างใด ซึ่งผลอาจจะออกมาได้ 2 ถึง 3 ทางด้วยกัน แต่ตนจะยังไม่พูดชี้นำว่ามีทางไหน

นายวิษณุ กล่าวว่า ในกรณีที่ระบุกันว่ากระบวนการมิชอบจะทำให้กฎหมายมิชอบไปด้วยนั้น ซึ่งเมื่อปี 2556 เป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนปี 2557 เป็นเรื่องของให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เมื่อเป็นกระบวนการมิชอบก็เท่ากับไม่มีมติ เท่ากับอันนั้นก็จบไป ส่วน พรบ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายที่แปลกว่ากฎหมายอื่น จึงได้เกิดมาตรา 143 เกิดขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษต่างหาก จึงยังไม่รู้ชัดว่าจะนำมาตรา 143 มาใช้ได้อย่างไร ซึ่งก็ได้เห็นคำร้องของส.ส. ที่ยื่นผ่านประธานสภาฯ ถึงศาลรัฐธรรมนูญ โยงถึงมาตรา 143 ด้วยก็ดี เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยในส่วนนี้ไปด้วย

“ในกรณีกฎหมายงบประมาณนั้น มาตรา 143 ระบุว่า ถ้าสภาฯ พิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวุฒิสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 20 วัน จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเงื่อนเวลาแบบนี้ ไม่มีอยู่ในกรณีของกฎหมายอื่น แม้แต่การพิจารณารัฐธรรมนูญก็ไม่มีเงื่อนเวลาอย่างนี้ แต่ พรบ.งบประมาณฯ มีเงื่อนเวลาเพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่เกรงว่า ถ้าช้าแล้วไม่ทัน ก็จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ ถึงได้ระบุว่าสภาผู้แทนราษฎร ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน ถ้าไม่เสร็จถือว่าเห็นชอบตามร่างนั้น วุฒิสภาต้องให้เสร็จใน 20 วัน ถ้าไม่เสร็จถือว่าเห็นชอบตามที่สภาผู้แทนราษฏรส่งมา ซึ่งในจุดนี้จะนำมาใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ประการใด เรายังไม่เคยลอง ดังนั้น เป็นการดีที่ ส.ส. ยื่นคำร้องต่อศาล ได้รวมประเด็นเหล่านี้ไปด้วย” นายวิษณุ กล่าว

ต่อข้อถามว่าแสดงว่าเป็นไปได้ที่กฎหมายจะไม่ตกไปทั้งฉบับนั้น  นายวิษณุกล่าวว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมดทั้ง 1.ตกทั้งฉบับ 2.เสียไปเฉพาะมตินั้น และ 3. เสียไปเฉพาะหักคะแนนที่จับได้ว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน ตรงนี้ก็สุดแท้แต่ หรืออาจจะมีข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ซึ่งตนก็ไม่ทราบ แต่ก็ไม่ควรพูดชี้นำ
 
เมื่อถามอีกว่าแสดงว่า พรบ.งบประมาณฯ ไม่มีทางที่จะไม่ผ่านใช่หรือไม่นั้น  นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่พูดเช่นนั้น แต่บอกว่าไม่ทำให้เกิดวิกฤต วิบัติ เสียหาย อย่างที่ไปตีข่าวว่า แย่แล้ว ไม่ใช่ถึงขั้นอย่างนั้น เพราะมีทางแก้ไข ดังนั้น ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนสองทาง คือ 1. รอความชัดเจนการสอบสวนของสภาผู้แทนฯ โดยจะต้องออกมาว่ามีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ แล้วใครเป็นคนแทน แล้วเจ้าของบัตรนั้นยินยอมรู้เห็นหรือไม่ ซึ่งสอบได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะข้อเท็จจริงเหล่านี้จะทุ่นเวลาสำหรับศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีแน่ๆ คือยืดเยื้อและใช้เวลา ตามที่เคยคาดว่างบประมาณจะออกได้ต้นหรือกลางเดือนกุมภาพันธ์ ก็ไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความล่าช้านี้ทำให้เสียหายก็มีบ้าง แต่ไม่ถึงรุนแรงอะไร ช่วยสื่อลงทุกคำให้ด้วย