posttoday

"เศรษฐพงค์” เปิดลายแทงสร้าง “Thailand Space Agency”

28 ธันวาคม 2562

"เศรษฐพงค์” เปิดลายแทงสร้าง “Thailand Space Agency” ชี้มูลค่ากิจการอวกาศไทยมีมหาศาลกว่าที่คิด แนะ รัฐให้ความสำคัญเร่งคลอด พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เพื่อประโยชน์ชาติและประชาชน

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์พิเศษ “โพสต์ทูเดย์” ถึงสถานการณ์และความสำคัญของกิจการอวกาศ ซึ่งประเทศไทยควรจะต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมอย่างไร

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า หากพูดถึงกิจการด้านอวกาศ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จนไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ความเป็นจริงแล้วชีวิตในประจำวัน เราต่างได้ใช้บริการที่เกี่ยวกับกิจการอวกาศอยู่เป็นประจำ นั่นก็คือการใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาณดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียมด้วยอุปกรณ์ต่างๆ การดูทีวีดาวเทียม หรือแม้กระทั่งการใช้ GPS ที่นำทางให้เราไปถึงจุดหมาย จะเห็นว่ากิจการอวกาศเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมาก เพียงแต่เราอาจไม่ได้คิดถึง แต่สำคัญไปกว่านั้น ปัจจุบันเรากำลังพูดถึงกิจการอวกาศระดับโลก ที่นานาชาติให้ความสำคัญและได้พัฒนาไปมาก โดยมีการศึกษาพบว่าในปี 2019 อุตสาหกรรมอวกาศของโลกมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยถึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับกิจการอวกาศอย่างจริงจัง

ก่อนอื่นผมอยากเล่าถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอวกาศ(Space Economy) ทั้งของโลกและของประเทศไทย โดยเศรษฐกิจอวกาศระดับโลก อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่ามีมูลค่ามากถึง 350 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2040 เศรษฐกิจอวกาศจะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอวกาศของโลกนั้นอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีปริมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 23.7% ต่อปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรม ดาวเทียมขนาดเล็ก (Micro/Nano Satellites) นั้นเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีประโยชน์ ทั้งในเชิงการศึกษา การทดลอง และการพาณิชย์ และมีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2567 นั้นมูลค่า ทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดาวเทียมขนาดเล็กของโลกจะพุ่งสูงถึง 52.5 หมื่นล้านบาท

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยจากการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) ในปี 2562 พบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของอุตสาหกรรมอวกาศของไทยมีรายได้อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาทและ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท โดยกิจการด้านอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทย ประกอบด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การขนส่งทางอวกาศ ระบบรับสัญญาณภาคพื้นดิน การผลิตอากาศยาน ด้านการศึกษาวิจัย และฟังก์ชันที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาณดาวเทียม ซึ่งมีสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 42%

ประกอบด้วย บรอดแคสต์วิทยุและโทรทัศน์ ระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ใช้ในกิจการด้านต่างๆเช่น การทหาร การควบคุมอากาศยาน การแพทย์ทางไกล ระบบนําทางด้วยสัญญาณดาวเทียม เป็นต้น และในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำและเศรษฐกิจอวกาศในภาพกว้าง ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากอวกาศ เช่น สัญญาณและข้อมูลจากดาวเทียม ที่นำไปต่อยอดเป็นบริการด้านต่างๆ สามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจได้มากที่สุดถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอวกาศที่น่าจับตามองคือ กิจการระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากร และกิจการระบบนำทางและสัญญาณการสื่อสาร มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดมา

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จด้านอวกาศ ต้องมีนโยบายและหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน พร้อมทั้งควรมีเป้าหมายการดำเนินกิจการอวกาศ นั่นคือความสำคัญที่เราจำเป็นต้องตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการอวกาศในประเทศไทย (Thailand Space Agency) โดยแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศสำหรับประเทศไทย ต้องมุ่งเน้นพัฒนาดาวเทียมที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือดาวเทียมขนาดเล็ก เช่น ดาวเทียมสื่อสารประเภทบรอดแบนด์ บนวงโคจรต่ำ (LEO) ซึ่งมีความคุ้มค่าในการลงทุน นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ IoT บน LoRaWan, M2M communication, ด้านการส่งเสริมสมรรถนะในอุตสาหกรรมการเกษตร, การพัฒนาโครงข่ายการให้บริการด้านสุขภาพ และเป็นการเปิดพรมแดนทางเศรษฐกิจที่กว้างกว่า เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมนั้นมีพื้นที่ บริการควบคุมไปทั่วโลก

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว่า ในการผลักดันกิจการอวกาศอย่างจริงจัง จุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Space agency ของไทยนั้น คือรัฐบาลต้องผลักดันให้ พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เกิดขึ้นได้จริงก่อน เพราะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะทำให้เรามีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น Space agency ขึ้นมาดูและกิจการอวกาศโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทด้านกิจการอวกาศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ให้ความสนใจอยากเข้ามร่วมมือกับประเทศไทยในการพัฒนากิจการอวกาศ รวมถึงมีแนวโน้มอยากมาเปิดธุรกิจด้านนี้ที่ประเทศไทยด้วย แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Space agency ในเรื่องกิจการอวกาศอย่างจริงจัง

สำหรับ ข้อกังวลเกี่ยวกับบุคคลากรด้านอวกาศในประเทศไทย อาจมีไม่เพียงพอนั้น พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลนี้ ผมมีความเห็นว่าการใช้บุคคลากรด้านนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้จำนวนมาก แต่บุคลากรที่มีจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านอวกาศจริงๆ ช่วงที่ผ่านมาผมเองได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อาจารย์ถือเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านอวกาศระดับต้นๆของเมืองไทยคนหนึ่ง มีผลงานด้านอวกาศให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เช่น เป็นผู้จัดการโครงการวิจัย ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก KNACKSAT ที่จะส่งเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ รวมถึงยังเป็น หัวหน้าโครงการวิจัย ออกแบบเบื้องต้นและพัฒนาดาวเทียม CubeSat ต้นแบบ เพื่อการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศในมหาวิทยาลัยฯ และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาดาวเทียมคิวบ์แซทต้นแบบเพื่อพัฒนาบุคคลากรและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรมดาวเทียม

นอกจากนี้ ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราเข้าไปแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์ความรู้และ เทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัยและกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้านเทคโนโลยีอวกาศเท่านั้น ดังนั้นการสร้างกำลังคนที่มีความรู้และทักษะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศได้ด้วยตนเองนั้นจึงเห็นว่าการพัฒนาไปเป็น Space academy เฉพาะด้านด้วยสร้างความร่วมมือกับสถาบันนานาชาติเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก สุดท้ายคือการรวบรวมกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรม มาร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก ในการสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) อุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างรายใหม่จากผลิตภัณฑ์และบริการด้านอุตสาหกรรมอวกาศได้ด้วยตัวเอง

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ยังทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า “เนื่องจากภาคใต้ของประเทศไทย มีภูมิศาสตร์และระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการเป็นฐานยิ่งดาวเทียมและยานอวกาศต่างๆขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และยังเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic corridor (SEC) ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหากมีความร่วมมือกับต่างประเทศก็จะทำให้การพัฒนาภาคใต้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ”