posttoday

"ไพบูลย์" ยันร่วม กมธ.ป.ป.ช.ไม่ได้มุ่งปลด "เสรีพิศุทธ์"

22 พฤศจิกายน 2562

"ไพบูลย์" ย้ำการเข้าทำหน้าที่ กมธ.ป.ป.ช. ไม่ได้เข้าไปเพิ่มความขัดแย้งหรือมุ่งปลด "เสรีพิศุทธ์" ยันทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปัดตอบชัด "พล.อ.ประวิทย์" มอบหมายมาหรือไม่ ระบุเป็นยุทธศาสตร์ พปชร.เหตุมีประสบการณ์สูงกว่า “ดล”

"ไพบูลย์" ย้ำการเข้าทำหน้าที่ กมธ.ป.ป.ช. ไม่ได้เข้าไปเพิ่มความขัดแย้งหรือมุ่งปลด "เสรีพิศุทธ์" ยันทำหน้าที่ตามกฎหมาย ปัดตอบชัด "พล.อ.ประวิทย์" มอบหมายมาหรือไม่ ระบุเป็นยุทธศาสตร์ พปชร.เหตุมีประสบการณ์สูงกว่า “ดล”

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากพรรคพลังประชารัฐ ว่าพรรคมีมติให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แทนนายดล เหตระกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ยืนยันว่าการเข้าไปทำหน้าที่นี้ ไม่ได้เข้าไปเพื่อเพิ่มความขัดแย้ง แต่ทางพรรคงเห็นว่าเคยมีประสบการณ์เป็นประธานกรรมาธิการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของวุฒิสภามาหลายปี จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลืองานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. และสัดส่วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในคณะกรรมาธิการชุดนี้มีเพียง 3 คน จึงปรับให้เหมือนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นๆ ที่มี 4 ถึง 5 คน

“ยืนยันว่าการเข้าทำหน้าที่แทนนายดล ไม่ได้เบียดเบียนโควต้าของพรรคชาติพัฒนา เป็นเพียงการสับเปลี่ยนเพื่อให้นายดลไปอยู่คณะกรรมาธิการที่เหมาะสม เพราะผมเองมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า ซึ่งน่าจะมีการแจ้งให้ที่ประชุมสภาทราบภายในวันนี้”

ส่วนกระแสข่าวว่าเป็นการมอบหมายจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อคานอำนาจในคณะกรรมาธิการ นายไพบูลย์กล่าวว่า เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคที่มอบหมายมาให้ทำงาน ยืนยันว่าการเข้าทำหน้าที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการหลายเรื่องอาจเกิดจากความไม่เข้าใจกฎหมาย ดังนั้นการเข้าไปทำหน้าที่จะทำให้มีความชัดเจนขึ้น ให้ข้อมูลด้านกฎหมายได้ เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับป ระเพณีปฏิบัติ และนำไปสู่ความเรียบร้อย

ส่วนข้อสังเกตว่าจะเข้าไปเพิ่มเสียงของกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล เพื่อปลดพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกจากตำแหน่งประธานกรรมาธิการสัปดาห์หน้า นายไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สมาชิกจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ส่วนตนเองไม่ได้จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อปลดประธานกรรมาธิการ แต่จะทำงานตามกฎหมายและความถูกต้อง และให้ความเห็นถึงการทำหน้าที่ของกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนายสิระ เจนจาคะ และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ โดยมองว่า ทั้งสองคนปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามเอกสิทธิ์ และเป็นไปในแนวทางที่จำเป็นต้องทำ

“บทบาทการทำงานในคณะกรรมาธิการกับเรื่องส่วนตัวต้องแยกกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ต้องทำตามหน้าที่ ทำเกินหรือขาดไม่ได้ หากผมได้เข้าไปทำงาน เชื่อว่าคงจะมีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการ แม้จะเคยมีกรณีฟ้องร้องกับผมมาก่อน แต่คงไม่มีปัญหา เพราะท่านก็มีวุฒิภาวะ คงแยกแยะได้ว่าตนเองเข้ามาทำงาน ไม่ได้เข้าเพื่อไปมีปัญหา”

สำหรับกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการโดยไม่มีมติที่ประชุม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องรอเข้าไปทำหน้าที่ แต่คิดว่าเรื่องนี้ควรจะพักเอาไว้ และหยิบประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ว่าการให้ความเห็นบางเรื่องก็อาจเกินเลยไปบ้าง

เมื่อถามอีกว่าในประเด็นที่กมธ.ยังมีเจตนาเรียกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร มาชี้แจงด้วยตัวเองแบบซ้ำหลายครั้ง มองอย่างไร นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องไม่สมควรและควรยุติได้แล้ว ทั้งนี้ แม้จะมีกมธ.ในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้นเป็น 4 คนนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่ท่านจะมาอย่างสบายใจ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีประเพณีไหนที่นายกเข้ามาชี้แจงกมธ.ด้วยตนเอง มีเพียงส่งตัวแทนและหนังสือชี้แจงเท่านั้น

ถามต่อว่า หากนายกมาเองจะถือเป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีของนักการเมืองหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า นายกไม่ควรมา ทั้งนี้ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดโอกาสและให้เวลาในที่ประชุมสภา เพื่อตอบข้อซักถามและประเด็นต่างๆของสมาชิกมากพออยู่แล้ว ดังนั้น หากนายกมากมธ.ชุดนี้อาจจะมีอีกกว่า 30 คณะกมธ.เชิญมาชี้แจง ทำให้นายกไม่มีเวลาทำงานในภารกิจ ซึ่งหากฝ่ายค้านต้องการสอบถามในประเด็นใด ตนสนับสนุนให้ใช้ที่ประชุมสภาโดยเฉพาะการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ