posttoday

ส่อลากยาวญัตติตั้งกมธ.แก้รธน.ไม่ทันพิจารณาสัปดาห์หน้า

09 พฤศจิกายน 2562

วิปรัฐบาลแจงยังมีวาระอื่นค้างเพียบคาดสัปดาห์หน้าสภาพิจารณาไม่ทัน"ชินวรณ์"เหน็บอยากทำเร็วให้ถอนญัตติผลกระทบ ม.44 ออกไปก่อน

วิปรัฐบาลแจงยังมีวาระอื่นค้างเพียบคาดสัปดาห์หน้าสภาพิจารณาไม่ทัน"ชินวรณ์"เหน็บอยากทำเร็วให้ถอนญัตติผลกระทบ ม.44ออกไปก่อน

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาแต่งตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ว่า ตามระเบียบวาระขณะนี้ มีรายงานขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญที่สภาฯต้องพิจารณารับทราบ เสนอเข้ามาอีก 7 เรื่อง ซึ่ง 1 ใน 7 นั้น เป็นรายงานประจำปี 2561 ของศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่า จะมีสมาชิกลงชื่ออภิปรายจำนวนมาก จึงคาดหมายว่า ญัตติด่วนขอตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 นั้น อาจไม่ทันพิจารณาในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เสนอใหม่เป็นรายงานของกมธ.วิสามัญอีก 2 เรื่อง คือ 1.รายงานของคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ที่มีนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กับ 2.ร่างข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธาน ดังนั้นญัตติการตั้งกมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คงไม่ทันพิจารณาในสัปดาห์หน้าแน่นอน

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวปฏิเสธไม่มีการเตะถ่วงญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับที่ประธานบรรจุไว้ เมื่อระเบียบวาระ ญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้รับธรรมนูญ เลื่อนมาอยู่ในลำดับที่ 2 ในช่วงสมัยประชุมสภาฯที่ผ่านมา เมื่อเปิดสมัยประชุมมาใหม่ ญัตติดังกล่าวเป็นไปตามวาระ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ในการประชุมสภาสัปดาห์หน้า ต้องพิจารณาตามระวาระ หากมีวาระเพื่อทราบค้างอยู่ก็ต้องพิจารณา และถ้ามีเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ต้องนำมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่ต้องพิจารณาและนำข้อเสนอส่งต่อไปยังรัฐบาล จากนั้นจะเข้าสู่ญัตติด่วนที่ 2 คือการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งในญัตติดังกล่าวก็เสนอเข้ามา 6 ญัตติ ก็มีของพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งจะเห็นว่าไม่มีใครเตะถ่วง ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบวาระ และหากต้องการจะให้พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา แก้รัฐธรรมนูญ ทำไมไม่ถอนญัตติศึกษาผลกระทบตามมาตรา 44 ออกไป

อย่างไรก็ตาม หากการอภิปรายในสภาฯเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การพิจารณาญัตติศึกษาแก้รัฐธรรมนูญอาจเป็นสัปดาห์หน้าก็ได้ถ้าทุกฝ่ายเร่งงรัดการอภิปราย แต่ถ้าทุกฝ่ายยังอภิปรายกันมากก็ต้องรอไปตามระเบียบวาระ

สำหรับการประชุมวิปรัฐบาลจะมีขึ้นในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่รัฐสภา เพื่อให้แต่ละพรรคมารายงานเรื่องการประชุมวิปรัฐบาลครั้งที่แล้วมอบหมายให้ไปพูดคุยกันในแต่ละพรรค เกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ตกผลึก รวมถึงข้อเสนอข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าแต่ละพรรคคิดเห็นอย่างไร