posttoday

เสรีรวมไทย ซัด "เต้" ผู้นำฝ่ายค้านอิสระ ขัดรธน. หวั่นกระทบพระราชอำนาจ

02 พฤศจิกายน 2562

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย แจงข้อกฎหมาย กรณี "มงคลกิตติ์" โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศเป็น "ผู้นำฝ่ายค้านอิสระ" ยันไม่มีกฎหมายรองรับ ขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นกระทบพระราชอำนาจ

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย แจงข้อกฎหมาย กรณี "มงคลกิตติ์" โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศเป็น "ผู้นำฝ่ายค้านอิสระ" ยันไม่มีกฎหมายรองรับ ขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นกระทบพระราชอำนาจ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ย. นางสาวธนพร โสมทองแดง ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดเผยคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารฝ่ายค้านอิสระ ผ่านเฟซบุ๊ก ภายหลังเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2562 ได้แถลงออกจากเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาอยู่ในสถานะฝ่ายค้านอิสระ ต่อมาวันที่ 10 ก.ย. 2562 พรรคประชาธรรมไทย ได้แถลงออกเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมาอยู่ในสถานะเดียวกัน ดังนั้น พรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคประชาธรรมไทย ซึ่งมี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคละ 1 เสียง จึงตัดสินใจร่วมกันทำงานในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านอิสระนั้น เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106 บัญญัติว่า ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อมีเหตุตามมาตรา 118 (1) (2) (3) หรือ (4) ในกรณีเช่นนี้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง

นางสาวธนพร กล่าวว่า บทบาทหลักของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน โดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่สำคัญ กล่าวคือ การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล นอกจากนี้ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศสมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ซึ่งประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้ ทั้งนี้ การประชุมต้องเป็นการประชุมลับ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นกรรมการในการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นางสาวธนพร กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในกรณีหัวหน้าพรรคเป็นผู้นำฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา มาตรา 106 วรรคแรกระบุไว้ชัดว่า เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปัจจุบัน คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 สิงหาคม 2562 แล้ว ไม่ใช่พรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งมีเพียง 1 เสียงเท่านั้น ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 106 วรรคแรกระบุไว้ชัดแจ้งเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน ปัจจุบันมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ ตามมาตรา 106 วรรค 3 บัญญัติถึงการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และตามมาตรา 106 วรรค 4 กรณีพ้นจากตำแหน่งหรือตำแหน่งว่างลง ที่ว่า ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อมีเหตุตามมาตรา 118 (1) (2) (3) หรือ (4) ในกรณีเช่นนี้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง แต่ในปัจจุบันสภาผู้แทนราษฏรมีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่กฎหมายรองรับตามรัฐธรรมนูญอยู่ ยังไม่มีเหตุพ้นตำแหน่งหรือตำแหน่งว่างลง แต่กรณีนายมงคลกิตติ์ สถาปนาตนเองเป็น”ผู้นำฝ่ายค้านอิสระ”และนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เป็น”ประธานที่ปรึกษาฝ่ายค้านอิสระ” โดยประกาศเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านเฟซบุ๊กโดยไม่มีกฎหมายใดรองรับและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 106

นางสาวธนพร กล่าวว่า ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อาทิ เยอรมัน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และประเทศไทยนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในสภาผู้แทนราษฎรมีเพียงฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเท่านั้น ไม่มีฝ่ายค้านอิสระ โดยผู้นำฝ่ายค้านได้รับการต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์และโปรดเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ การที่นายมงคลกิตติ์ฯ สถาปนาตนเองเป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระ โดยแต่งตั้งกันเอง โดยไม่ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน แม้จะอ้างวาทกรรมสวยหรู เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ พร้อมแสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ จึงแต่งตั้งผู้บริหารฝ่ายค้านอิสระก็ตาม แต่หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญและบทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ก็ตาม แต่การประกาศแต่งตั้งกันเอง ชงกันเอง ถือว่าเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น หากได้พิจารณาถึงโครงสร้างการเมืองการปกครองไทยในระบบรัฐสภา มีเฉพาะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่มีสารบบผู้นำฝ่ายค้านอิสระ ทำให้ประชาชนติดตามการเมือง เกิดความสับสน ทั้งหากพิจารณาถึงมาตรา 106 วรรค 3 ให้อำนาจเฉพาะประธานสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หากพิจารณามาตรา 106 วรรคแรกประกอบวรรคท้าย ระบุไว้ชัดแจ้งถึงการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเกรงว่าจะกระทบต่อพระราชอำนาจเพราะการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านอิสระและคณะกรรมการบริหารตนเอง ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ เปรียบเสมือนการตั้งตนเป็นรัฐอิสระ เพราะฉะนั้น แม้พรรคไทยศรีวิไลย์และพรรคประชาธรรมไทย แม้เดิมประกาศร่วมรัฐบาลต่อมา ประกาศถอนตัวไม่ร่วมรัฐบาล และไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด ไม่สามารถตั้งตนเป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระได้ เพียงแต่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มี ส.ส.หากไม่เข้าร่วมรัฐบาลและไม่เข้าร่วมกับฝ่ายค้าน ส.ส.เหล่านี้ สามารถทำหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายรับรองไว้ตามบทบาทอำนาจหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น รวมทั้ง ในการโหวต ถือเป็นเอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น ในการใช้สิทธิโหวตเสียงหรือไม่โหวตเสียงหรืองดออกเสียงเท่านั้น ถึงแม้ตามระบียบข้อบังคับประชุมสภาผู้แทนราษฏรในการอภิปรายทั่วไปในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2562 ที่จะเปิดในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 นี้ (120 วัน) แต่หากจะใช้สิทธ์อภิปรายในประเด็นต่างๆ ไม่มีสถานะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี สิทธิ์ในการอภิปรายในสภา นายมงคลกิตติ์ จะใช้สิทธิอภิปรายในฐานะผู้นำฝ่ายค้านอิสระในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติรองรับสิทธิไว้

นอกจากนี้ แม้การทำหน้าที่ฝ่ายค้านอิสระ ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ แต่การประกาศตั้งตนเองและคณะเป็นผู้นำฝ่ายค้านอิสระไม่สามารถกระทำได้เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายมหาชน บัญญัติอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆและขั้นตอนไว้ ทั้งตามมาตรา 5 รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ทั้งหากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แม้ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ในการตั้งตนเองสถานะ”ผู้นำฝ่ายค้านอิสระ” แต่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงการแต่งตั้ง ขั้นตอนในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 106 ไว้โดยเฉพาะแล้ว กรณีตามมาตรา 5 วรรค 2 เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่นับแต่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงปัจจุบัน หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระยะเวลา 87 ปี ในสภาผู้แทนราษฏร ไม่เคยปรากฎว่า มีผู้นำฝ่ายค้านอิสระมาก่อน