posttoday

ส.ส.อนาคตใหม่ จี้พาณิชย์ แจงแผนรับมือ หลังสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทย

28 ตุลาคม 2562

วิโรจน์ พรรคอนาคตใหม่ ชี้สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทยไม่เกินคาด จี้กระทรวงพาณิชย์แจงแผนรับมือและมาตรการเยียวยา

วิโรจน์ พรรคอนาคตใหม่ ชี้สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีไทยไม่เกินคาด จี้กระทรวงพาณิชย์แจงแผนรับมือและมาตรการเยียวยา

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นกรณี สหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าจากไทยจำนวน 573 รายการ จาก 1,300 รายการ มูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 39,650 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าทางการไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยจะเริ่มบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้า

นายวิโรจน์ ระบุว่า แม้การตัดสิทธิจีเอสพีของประเทศสหรัฐอเมริกา จะถูกเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวโยงกับกรณีที่รัฐบาลไทยเตรียมห้ามใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาทต่อปี ก็ตาม แต่การถูกตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้อันที่จริงแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดคาดหมายแต่อย่างใด และก็ควรเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรับมือเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะประเทศไทยเป็น 1 ใน 21 ประเทศ ที่ถูกสหรัฐอเมริการตรวจสอบอย่างละเอียด

เนื่องจากมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐอเมริกาสูงกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศคู่ค้าที่เข้าข่ายบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Manipulator Watchlist) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า มีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 3 ข้อ ด้วยกัน คือ 1.เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าร้อยละ 2 ของจีดีพี 2.เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาและ 3.มีการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่าร้อยละ 2 ของจีดีพี

"แต่การที่ประเทศไทยเข้าหลักเกณฑ์ 1 ข้อ คือ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้มาก แม้ว่าการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ 1.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จะไม่ถึงเกณฑ์ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าปริ่มน้ำเต็มที ดังนั้นการที่ไทยจะถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพี จึงเป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้อยู่แล้ว และเป็นสถานการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเตรียมการรับมือเอาไว้ล่วงหน้าบ้างอยู่แล้ว"

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ควรต้องตอบคำถามกับประชาชน ในกรณีนี้ คือ 1.ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ว่าประเทศไทยอาจจะถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพี และประเมินผลกระทบไว้มากน้อยเพียงไร 2.ได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหา หรือบรรเทาผลกระทบจากการถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีไว้ล่วงหน้าหรือไม่

3.ในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้ ก่อนถึงวันที่ 25 เม.ย.2563 ที่การถูกตัดสิทธิจีเอสพี จะมีผลบังคับใช้ มีแผนที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือรัฐบาลควรจะต้องประเมินว่าการถูกตัดสิทธิจีเอสพีในกรณีนี้จะส่งผลให้เกิดการหดตัวของภาคการส่งออกมากน้อยเพียงไร และการหดตัวของการส่งออกนั้น จะส่งผลต่อแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานผู้มีรายได้น้อย (ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) มากแค่ไหน เพราะในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนแรงงานที่ทำงานล่วงเวลาในภาคอุตสาหกรรม เฉลี่ยแล้วลดลงถึง 8.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน สิ่งที่รัฐบาลต้องตอบคำถามของประชาชนก็คือ ผลของการตัดสิทธิจีเอสพี ในกรณีนี้จะซ้ำเติมการแรงงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ขนาดไหน และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาอะไรไว้รองรับแล้วบ้าง

"รัฐบาลยังมีเวลาอีกตั้ง 6 เดือน ในการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน และยังพอมีเวลาในการดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานประมงให้มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายกเลิกคำสั่งการตัดสิทธิจีเอสพีได้ ซึ่งรัฐบาลควรจะรายงานความคืบหน้าถึงการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหานี้ ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะๆ"

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า กรณีสำหรับภาคประมงไทย คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันการส่งออกปลาที่จับจากเรือประมงของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีน้อยมากๆ แล้ว สำหรับการส่งออกทูน่ากระป๋อง และซาร์ดีนกระป๋องไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงครึ่งปีแรก ก็มีมูลค่าเพียง 236.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องแม่นยำ คงต้องรอฟังการประเมินผลกระทบของสินค้าแต่ละรายการจากกระทรวงพาณิชย์เสียก่อน