posttoday

เตือนไทยระวังติดกับดัก PPP และ EEC ทำช่องว่างเหลื่อมล้ำเพิ่ม

27 ตุลาคม 2562

สมาชิกวุฒิสภาเตือนไทยระวังติดกับดัก PPP และ EEC เปิดทาง "เอื้อเจ้าสัว" ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มมากขึ้น

สมาชิกวุฒิสภาเตือนไทยระวังติดกับดัก PPP และ EEC เปิดทาง "เอื้อเจ้าสัว" ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำในประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 โดยเตือนให้ระวังการใช้วิธีร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ที่อาจพาประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่ก็จะทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อความดังนี้

ระวัง - กับดัก PPP และ EEC !

เปิดลังกฎหมายงบประมาณปี 2563 หยิบเล่มภาพรวมมาอ่าน พร้อมความคิดคำนึงบางประการที่ขอบันทึกไว้

เราติดกับดักงบประมาณขาดดุลมาเป็นเวลานาน แต่หลายปีมานี้เราน่าจะติดกับดักการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP เพิ่มขึ้นอีกหนึ่ง เป็นผลต่อเนื่อง และเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน

ล่าสุด มีการตั้งเป้าว่าจะจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2573 โน่น

แต่ห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองทั้ง 2 ขั้วที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่างก็ใช้วิธีหรือพยายามใช้วิธีออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนอกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและใช้เงินกู้นั้นไปตามโครงการพิเศษต่อเนื่องกันหลายปี โดยไม่นำมาบรรจุไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายแต่ละปี เหตุเกิดในช่วงปี 2552 และช่วงปี 2554 - 2556 ซึ่งก็มีเหตุผลในระดับสำคัญ เพราะ

1. การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเป็นฐานในการลงทุนด้านอื่น ๆ

2. การมีกฎหมายพิเศษกำหนดวงเงินลงทุนล่วงหน้าไว้หลายปีเป็นการสร้างความเชื่อมั่น

3. การลงทุนภาครัฐเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. งบลงทุนในกฎหมายงบประมาณแต่ละปีมีจำกัด

แต่ก็มีข้อเสียหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญที่สุดคือทำให้งบประมาณตามกฎหมายพิเศษได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภาเข้มข้นน้อยกว่างบประมาณตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และทำให้กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ครบถ้วน

รัฐบาลนี้ และรัฐบาลคสช. ไม่เคยใช้วิธีออกกฎหมายพิเศษกู้เงินนอกงบประมาณ

โดยได้หันใช้วิธี PPP แทน

เหตุผลสำคัญก็เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 และล่าสุดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง 2561 ที่เพิ่งออกใหม่แม้จะไม่ได้ห้ามแต่ก็มีข้อกำหนดเข้มงวดมากขึ้นในมาตรา 53 แต่ในเมื่อยังมีความจำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต่าง ๆ อยู่ตามเหตุผล 4 ข้อข้างต้น ก็มีหนทางเดียว

แต่ PPP ก็มีผลข้างเคียงใหญ่มหาศาล

เพราะเอกชนแตกต่างจากรัฐ เอกชนย่อมต้องหวังกำไร ซึ่งไม่ผิด เพราะต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ประชาชนโดยรวมของประเทศ

อย่างน้อยเราก็ได้ข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นการ ‘เอื้อเจ้าสัว’ ดังขึ้น ๆ

รัฐบาลนี้มีแนวโน้มจะใช้ PPP มากขึ้น มีการสร้างกรอบของ PPP ในช่วงปลายรัฐบาลคสช. โดยการตรากฎหมาย PPP ฉบับใหม่ (พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562) กฎหมายที่ราชพัสดุ (พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562)

รวมทั้งกฎหมายที่ถือว่าเป็นธงนำที่มีลักษณะเป็น Super PPP อย่าง EEC (พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561)

ไม่ต้องพูดถึง EEC ว่ามีการคิดนอกกรอบยกเว้นกฎเกณฑ์เดิม ๆ ของการส่งเสริมกาารลงทุนขนาดไหน

ในกฎหมาย PPP ใหม่ยังมีการปรับเปลี่ยนนิยามว่าด้วย PPP หรือการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเสียใหม่ให้จำกัดเฉพาะแต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเท่านั้น ตัดการให้เอกชนใช้ทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินและที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐออกไปจากความหมายของการร่วมทุน อันจะมีผลทำให้หน่วยราชการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินและที่ราขพัสดุที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานของรัฐได้ง่ายกว่าเดิม เพราะไม่ต้องไปเข้ากรอบกฎหมาย PPP ใหม่ที่จำกัดไว้เฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเท่านั้น

PPP และ Super PPP อย่าง EEC รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของหน่วยราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งที่ดินและที่ราชพัสดุได้ง่ายกว่าเดิม หากทำสำเร็จ เศรษฐกิจกระแสหลักที่เน้นภาพรวมของประเทศไทยผ่านตัวเลข GDP ก็จะดีขึ้น พุ่งทะยานขึ้น อาจถึงขั้นหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยซ้ำ แต่ต้องบอกว่านอกจากจะไม่ได้ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังจะเป็นการถ่างให้กว้างขึ้นอีกต่างหาก เพราะนี่ไม่ใช่การลงทุนภาครัฐแต่ฝ่ายเดียวที่รัฐไทยปัจจุบันทำได้ยากขึ้น

ก็ต้องระวังและหาทางแก้ไขเสียแต่เนิ่น ๆ

เพราะขณะที่เป้าหมายรวมคือต้องการพาประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง อาจจะต้องมาติดกับดักตัวใหม่คือกับดัก PPP และ EEC

ที่อาจจะทำให้แม้หลุดออกจากความเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้ในที่สุด แต่หากไม่อาจหนีพ้นความเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอันดับต้น ๆ ของโลกนี่จะคุ้มกันหรือเปล่าหนอ

ที่มา Kamnoon Sidhisamarn