posttoday

5 อาการป่วยเรื้อรังของประเทศ กับสูตรยาแก้อย่างยั่งยืน

22 ตุลาคม 2562

ผู้คร่ำหวอดวงการเมืองและเศรษฐกิจไทย ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจแนะวิธีขับเคลื่อนการพัฒนาชาติ

ผู้คร่ำหวอดวงการเมืองและเศรษฐกิจไทย ส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจแนะวิธีขับเคลื่อนการพัฒนาชาติ

****************************

จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมโลก จึงเลี่ยงไม่ได้ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากหลายปีผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฉะนั้นเร่ื่องเหล่านี้จะรอเพียงให้ฝ่ายรัฐบาลในฐานะผู้บริหารแก้ไขแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ แต่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกัน

ด้วยเหตุผลและปัจจัยต่างๆนี้ ทำให้เมื่อช่วงค่ำวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ในงาน “สิงห์ทองทรรศนะ ครั้งที่ 1” จัดโดย สมาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเวทีเสวนาพูดคุยในหัวข้อ "การเมือง การคลัง พลังนำประเทศ" จากผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองและเศรษฐกิจไทย เพื่อมาช่วยกันส่งเสียงข้อเสนอแนะไปยังผู้มีอำนาจ ถึงวิธีการขับเคลื่อนระบบการเมืองการคลังอย่างไรที่จะเป็นพลังในการพัฒนาประเทศชาติ

“5 อาการป่วยของชาติ” กับ “ยาแก้ที่ยั่งยืน”

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเปิดประเด็นโดยฉายภาพต้นตออาการป่วยของประเทศไทยว่า หากเปรียบประเทศเป็นร่างกาย การเมืองก็คือสมอง การคลังเป็นแขนขาคอยช่วยการเมืองขับเคลื่อน ฉะนั้นหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายต้องเดินไปพร้อมกัน เปรียบคือในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ฝ่ายการเมืองมีหน้าที่เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า และเมื่อเศรษฐกิจปกติการคลังควรเตรียมเสบียงสำรองไว้ เพราะสองอย่างนี้ต้องทำหน้าที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศเผชิญกับโครงสร้างปัญหาภายในและภายนอกซึ่งมี 5 อาการที่น่าห่วง ดังนี้

1.ศักยภาพเศรษฐกิจถดถอยเติบโตน้อยลง เปรียบเสมือนคนแก่ที่เดินช้าลง เห็นได้ชัดมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

2.ความเหลื่อมล้ำสุดโต่ง เห็นได้จากคนไทยมากกว่า 75% ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สอดคล้องกับงานวิจัย พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมีมากกว่ารายได้ ฉะนั้นเมื่อความเป็นอยู่ของคนแตกต่างกันมากเช่นนี้ จึงทำให้ในสังคมมักเห็นภาพอาการผู้คนหมั่นไส้คนรวยกันมากขึ้น

3.การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เพราะเมื่อสังคมคนชรามากขึ้นก็ทำให้ฐานกำลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลด สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

4.เทคโนโลยีป่วนโลก ปัญหานี้เป็นเรื่องท้าทายกระทรวงการคลังโดยตรง เนื่องจากเมื่อธุรกิจไปอยู่บนสังคมออนไลน์มากขึ้น โอกาสจะเก็บภาษีก็เป็นไปได้ยาก รวมถึงเมื่อภาคอุตสาหกรรมมีการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ รัฐก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่ม

และอาการที่ 5.การเมืองในม่านหมอก แม้ตอนนี้ปัญหาสีทางการเมืองจะเลือนหายไปบ้าง แต่สภาพโดยรวมเรายังไม่เห็นอะไรชัดเจน เพราะผู้คนยังแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่ทว่าในม่านหมอกยังมีแสงสว่าง เพราะคนรุ่นใหม่ยุคนี้มีตื่นตัวมากขึ้นซึ่งเรื่องนี้จึงเป็นความหวัง

จาก 5 อาการน่าห่วงของประเทศ ดร.ประสาร แนะนำทางแก้ปัญหาว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำมี 4 มิติหลักๆ คือ 1.ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ไม่ควรทำให้คนรวยรวยกระจุกอยู่แต่เพียงกลุ่มหรือพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ควรกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น "การกระจายอำนาจจะเป็นรากฐานให้สังคมไทยดีมากขึ้น"

นอกจากนี้ควรสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

มติที่ 2 คนไทย ภาคธุรกิจ ภาครัฐ ทุกองค์กรต้องเก่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ขยายตลาดเพื่อสร้างความเชื่อมโยงการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน

มิติที่ 3 ต้องสร้างประเทศไทยให้ทันสมัย โปร่งใส เป็นธรรม เช่นปรับปรุงเรื่องกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจ

และมิติที่ 4 ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองและสังคมแบบเสรีเปิดกว้าง คนในสังคมต้องรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจของการเมืองระบบบอบประชาธิปไตย

“แม้ประเทศจะเผชิญความท้าทายหลายหลายมิติ แต่มันจะสร้างความเข้มแข็ง 4อย่าง คือ สร้างความเท่าเทียม เพิ่มศักยภาพ เปิดกว้างเป็นธรรม และมีกรอบที่คำนึงถึงคนในรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน” ดร.ประสาร กล่าวทิ้งท้ายว่า

5 อาการป่วยเรื้อรังของประเทศ กับสูตรยาแก้อย่างยั่งยืน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายประเทศที่มั่นคง เพื่อให้ชาวโลกเชื่อมั่น

ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เล่าว่า ตนได้ร่วมงานกับรัฐบาลมาหลายชุด และสิ่งที่เห็นมาตลอดจากการผู้นำหลายชาติมาเยี่ยมเยียนนายกรัฐมนตรีไทย คำถามที่ผู้นำไทยเจอบ่อยๆคือ “ประเทศไทยจะไปไหน” จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะอธิบายไป

แต่สิ่งที่รู้สึกได้คือผู้นำหลายประเทศไม่เชื่อว่า สิ่งที่ผู้นำไทยพูดจะอยู่ได้ยาวนาน เพราะจากที่เห็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักอยู่ได้ประมาณ 5 ปี หรือบางครั้งก็ไม่ถึง ตรงนี้จึงทำให้ต่างชาติไม่เชื่อมั่นไทย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการตกผลึกในรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ที่กำหนดให้ รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ จึงทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมา

รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อทำให้การเดินหน้าของประเทศจะได้มีแบบแผนทำให้นานาชาติเชื่อมั่น ส่วนสาเหตุที่แผนต้องอยู่นาน 20 ปี เพราะหากเปรียบประเทศเหมือนคน ก็ต้องดูแลกันตั้งแต่เกิดถึงอายุ 20 ปี จนสามารถดูแลตัวเองได้

ดร.วิษณุ ทิ้งท้ายว่า การเมืองการคลังหรือเศรษฐกิจเป็นตัวนำพาประเทศ วันนี้เมื่อประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติคือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมั่นคงเปรียบเหมือนการเมือง มั่งคั่งคือการคลัง และยั่งยืนคือสิ่งที่ทั้งการเมืองการคลังต้องไปด้วยกัน ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันจึงเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ

5 อาการป่วยเรื้อรังของประเทศ กับสูตรยาแก้อย่างยั่งยืน ดร.วิษณุ เครืองาม

นักการเมือง เปลี่ยนนิสัย-วิธีคิดหนทางคลี่คลายปัญหาชาติ

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดการวิเคราะห์การเมือง มองว่า สภาพการเมืองไทยจะมี 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.อำนาจการเมือง 2.อำนาจทหาร และ3.อำนาจนานทุน ซึ่งอยู่คู่สังคมไทยมาตลอด

และวัฏจักรการนักการเมืองจะมี 10 เรื่องหลักๆคือ 1.ฉกฉวยแย่งชิง 2.ผูกขาดตัดตอน 3.ลิดรอนสิทธิเพื่อน 4.แทงหน้าแทงหลัง 5.หน้าด้านหน้าทน 6.มือยาวสาวได้สาว 7.ได้ฝากเมียเสียฝากเพื่อน 8.เงื่อนเวลา 9.อ้างฟ้าดิน และ 10.สิ้นศรัทธา

ชูวิทย์ มองว่า การที่จะทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองที่ดี นักการเมืองต้องมีความคิดใหม่ๆ และหากจุดแตกต่าง

ขณะที่ รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า ปัญหาทางการเมืองเกิดจาก2ฝ่าย คือรัฐบาลและฝ่ายค้านคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชนะทั้งคู่ปัญหาจึงไม่จบ

นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าปัญหาอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีทัศนคติคิดว่าเข้ามาตามคำเรียกร้อง เสียสละ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นคนฉวยโอกาส

รศ.สุขุม แนะนำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปลี่ยนและแสดงให้สังคมเห็นว่าเป็นคนอาสาจริงๆ ไม่ใช่มาคอยทวงบุญคุณ

ด้าน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ กล่าวว่า หากถามทำไมประเทศตกอยู่ในสภาพนี้ ไม่ควรโทษใครทั้ง ทหาร ตำรวจ นายกรัฐมนตรี แต่อยากให้มองตัวเอง เพราะภาคสังคมมีส่วนทำให้ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราควรเปลี่ยนตัวเองให้ดีได้หรือไม่

5 อาการป่วยเรื้อรังของประเทศ กับสูตรยาแก้อย่างยั่งยืน