posttoday

"บิ๊กตู่"รอด!!ศาลรธน.ชี้ หน.คสช.ไม่มีสถานะเป็นจนท.อื่นของรัฐ

18 กันยายน 2562

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย หัวหน้า คสช.ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ชี้ ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย หัวหน้า คสช.ไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ  ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุด

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพร้อมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4 )ประกอบมาตรา 160 วรรค 6 และมาตรา 98( 15) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาด้านข้อกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องไต่สวน และกำหนดประเด็นวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลง เนื่องจาก ตำแหน่งหัวหน้า คสช. มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. ผลสืบเนื่องจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งรัฏฐาธิปัตย์ในการปกครองประเทศ เห็นได้จากการออกประกาศ หรือคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐ และตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่เฉพาะชั่วคราว ช่วงระยะเวลาหนึ่งมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศของประชาชน

ดังนั้นตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15) พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 160 (6) 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลง จากสาเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) มาตรา 160 (6) มาตรา 98 (15)

ส่วนประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัย ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยกรณีความเป็นเจ้าอื่นของรัฐไว้แล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีมาตรา 109 (11) หลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (15) สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามมาตรา 109 (11) เป็นการตีความจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะนี้ ควรถือว่าเป็นคำทั่วไปที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า

มาตรา 109 (11) หลักการเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2560 ม 98 (15) ไว้ดังปรากฏตามคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตาม 109 (11) เป็นการตีความจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้ง สส และ สว เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะนี้ ควรถือว่าเป็นคำทั่วไป ที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า

โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ได้สรุปลักษณะเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ว่า 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ และ4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย แต่ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15)