posttoday

"ธีระชัย" แนะแก้ปัญหาน้ำท่วม ต้องทำให้การบริหารน้ำเป็นอำนาจท้องถิ่น

18 กันยายน 2562

อดีตรมว.คลังชี้การแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทย ต้องทำให้กระบวนการบริหารน้ำหลากเป็นอำนาจท้องถิ่น รัฐต้องกระจายอำนาจ

อดีตรมว.คลังชี้การแก้ปัญหาน้ำท่วมของไทย ต้องทำให้กระบวนการบริหารน้ำหลากเป็นอำนาจท้องถิ่น รัฐต้องกระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ต้องทำให้กระบวนการบริหารน้ำหลากเป็นอำนาจท้องถิ่น”

ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูกาลในโลกสุดกู่มากขึ้น หน้าร้อนก็ร้อนมากขึ้น หน้าหนาวก็หนาวมากขึ้น พายุใหญ่ก็ถี่ขึ้น และขนาดกว้างใหญ่ขึ้น

นักวิชาการจำนวนมากที่เตือนว่าปัญหาโลกร้อนจะละลายหิมะขั้วโลก ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และมีภาพแผนที่ที่แสดงมหาสมุทรจะกินเข้าไปบนบกหลายที่ กรณีของไทย ถ้าจะปลอดภัยต้องอพยพขึ้นทิศเหนือไปเป็นร้อยกิโลเมตร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ระดับน้ำทะเลยังไม่ได้สูงขึ้นเท่าไหร่ แต่ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ต่างๆ ดูเหมือนจะมากขึ้น เราจึงเห็นข่าวน้ำท่วมฉับพลันในประเทศต่างๆ หลายทวีป ซึ่งอาจจะแสดงว่า ท้องฟ้าและบรรยากาศโลกมีความสามารถจะอุ้มไอน้ำความชื้นเอาไว้มากกว่าที่คาดไว้

ถ้าเป็นดังนี้ ปัญหาน้ำท่วมในไทยน่าจะมีบ่อยขึ้น ประกอบกับแนวโน้ม urbanization ที่ประชากรเข้ามากระจุกในตัวเมืองซึ่งเป็นแหล่งจ้างงาน ทำให้ชุมชนเมืองขยายพื้นที่ บางส่วนไปขวางทางน้ำ บางส่วนกินเข้าไปในพื้นที่รับน้ำ

ถ้ารัฐบาลจะไม่ตกเป็นฝ่ายรับ จะไม่ถูกตำหนิลูกเดียว ดังที่คุณสนธิชี้ ก็จำเป็นต้องเตรียมการ ทำให้ประชาชนอยู่กับน้ำได้ เช่น

* กำหนดแผนยุทธศาสตร์ กำหนดพื้นที่รับน้ำถาวร โดยห้ามเปลี่ยนแปลงผังเมืองเรื่องนี้เด็ดขาด

* ยกระดับถนนและทางรถไฟให้น้ำลอดใต้ เพื่อให้สัญจรได้ทุกสถานการณ์

* ช่วยเหลือการดัดแปลงบ้านเรือนในพื้นที่รับน้ำ ยกตัวให้สูงพ้นน้ำท่วม และช่วยตัวเองได้ระหว่างน้ำหลาก โดยเป็นเงินให้เปล่าบางส่วน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำบางส่วน

* จัดหาที่ดอน หรือที่ป้องกันน้ำยิ่งยวด เพื่อให้กิจกรรมชุมชนในฤดูน้ำหลากน้ำหลากยังสามารถเดินหน้าได้ตามปกติ ทั้งการเรียนการสอน การศาสนา และเพื่อเก็บสัตว์เลี้ยงชั่วคราวพร้อมการตุนหญ้าแห้งและอาหาร

* ช่วยเหลือการโยกย้ายอาคารสำคัญของชุมชนไปที่ป้องกันน้ำยิ่งยวด เพื่ออพยพชาวบ้านที่สามารถย้ายออกจากบ้านชั่วคราว และจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือในฤดูน้ำหลาก ให้แต่ศูนย์ครอบคลุมดูแลพื้นที่ใกล้เคียง

* กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเรื่องนี้ โดยต้องจัดทำปฏิทินล่วงหน้าทั้งปี เดือนไหนจะเตรียมการอย่างไร ทำให้น้ำหลากเป็นเรื่องปกติ คนอยู่กับน้ำได้ไม่เดือดร้อนเกินไป

* จัดกระบวนการที่จะสามารถส่งผ่านงบประมาณฉุกเฉินลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว

* อุดหนุนให้ชุมชนบริหารการกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเริ่มลด เช่น สร้างฝายน้ำล้นให้ถี่ขึ้น ขุดบ่อน้ำขนาดเล็ก ทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อบริหารฤดูแล้งน้ำ

ถึงเวลาที่รัฐบาลจะจัดกระบวนการทำงานใหญ่และลงทุนเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินที่คุ้มค่ามากกว่าโครงการอุปโภคบริโภค และเงินที่ลงไปในพื้นที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไปในตัว

ที่มา www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala