posttoday

"สุดารัตน์"ชี้ ศก.ประเทศหายนะ ต้องใช้ยาแรง จี้ ทบทวนมาตรการกระตุ้น

17 สิงหาคม 2562

“สุดารัตน์” ระบุ เศรษฐกิจประเทศหายนะ ต้องใช้ยาแรง- เลิกใช้วิธีสะเปะสะปะ ซัดรัฐบาลควรเลิกซื้ออาวุธ นำเม็ดเงินแก้ปัญหาให้ตรงจุด แนะทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“สุดารัตน์” ระบุ เศรษฐกิจประเทศหายนะ ต้องใช้ยาแรง- เลิกใช้วิธีสะเปะสะปะ ซัดรัฐบาลควรเลิกซื้ออาวุธ นำเม็ดเงินแก้ปัญหาให้ตรงจุด แนะทบทวนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เวลา 07.30 น. ที่ วัดสุวรรณาราม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ลงพื้นเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยนาย นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญอดีตผู้สมัครส.ส. เขตบางกอกน้อย พรรคเพื่อไทย นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตผู้สมัครส.ส. เขตบางกะปิ พรรคเพื่อไทย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม และเดินชมจิตรกรรมฝาผนัง จากนั้นมีการสักการะอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งมารอต้นรับพร้อมมอบดอกกุหลาบสีแดง เพื่อให้กำลังใจ

จากนั้นเวลา 09.30 น. คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เราเห็นด้วยว่าควรกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาเราได้พยายามกระตุ้นรัฐบาลให้ออกไปช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเรื่องภัยแล้ง มาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว จนกระทั่งเมื่อวานนี้ครม. เศรษฐกิจก็มีความเคลื่อนไหวเล็กน้อยเกี่ยวกับภัยแล้ง และคิดว่าต้องใช้ยาแรงจำนวนมากพอ ที่จะทำให้เติบโตได้จริง สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมามีทั้งสิ่งที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เห็นด้วยคือการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในนโยบายหนึ่งของพรรคเพื่อไทยมาตลอด และรัฐบาลได้นำนโยบายนี้ไปดำเนินการต่อ ส่วนเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 3 แสนล้านบาท โดยเรามีความเป็นห่วงสองประเด็นคือ 1.ขณะนี้เปรียบเสมือนหน้าแล้งมีน้อยมาก คือมีน้ำหรือเม็ดเงินน้อยมาก ใน 3 แสนล้านบาทนั้นประกอบด้วย การพักหนี้และการให้สินเชื่อของธนาคารไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 1 แสนกว่าล้านบาทไปแล้ว รวมถึงการพักหนี้ต่างๆ ดังนั้นจึงเหลือเม็ดเงินที่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยมาก

2.ในภาวะน้ำมีน้อยทางรัฐบาลต้องเลือกใช้วิธีในการรดน้ำ จะหยดที่โคนต้น หรือจะสเปรย์ทิ้ง มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาถือว่าเป็นการใช้น้ำไม่คุ้มค่า เพราะใช้วิธีสเปรย์เบี้ยหัวแตก ไม่ได้อัดลงไปที่ตรงจุด แม้การท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ถ้าเทียบกับอัดเงินลงไปที่เกษตรกรฐานราก ให้เขามีเงินงามไปจับใจในตลาด หรือทำให้เอสเอ็มอีฟื้นเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศมีเงินซื้อของในตลาดก็ขายได้ โรงงานก็ผลิตได้ น่าจะมีผลดีมากกว่า ขณะที่การท่องเที่ยวนั้นมีข้อติดขัดหลายอย่าง เช่น ถ้าจะเอาเงินรัฐไปเที่ยว 1,000 บาท ต้องควักเงินตัวเองอีก 2,000 บาท ซึ่งตอนนี้ตัวเองก็ไม่มีให้ควัก

“ดังนั้นจึงอยากติง 2 เรื่องคือยาไม่แรงพอกับวิธีการสะเปะสะปะ ใช้วิธีสเปรย์แบบไม่เกิดประโยชน์ เพราะน้ำจะระเหยหมดไปไม่ลงถึงราก เราในฐานะนักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชนลงพื้นที่ได้หังความทุกข์ยากทั้งในเมืองและชนบท สิ่งที่เราอยากเห็นคือการนำเงินลงไปกระตุ้นอย่างเพียงพอ เลิกซื้ออาวุธ เลิกซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น เศรษฐกิจวันนี้ไม่ใช่วิกฤตแต่เป็นหายนะ หวังว่าในการประชุมครม. สัปดาห์หน้าจะได้ทบทวนสิ่งที่ฝ่ายค้านติติงด้วยความหวังดี ”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

เมื่อถามถึงนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ส่วนนี้ขอตัวอย่าง.การท่องเที่ยวในชุมชนเรื่องที่ต้องสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่มาควบคู่กับการกระจายอำนาจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐส่วนกลางไปคิดแทนคนท้องถิ่น และจัดงบประมาณไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน แม้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล และวันที่ 20 ส.ค. เราจะแถลงก้าวต่อไปของเพื่อไทยยุคใหม่ จะมีโครงการชื่อว่า” นวัตกรรมแก้จน” และ “โครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน” โดยชุมชนบางกอกน้อยจะเป็นโมเดลตัวอย่างเพื่อทำให้เก็นว่าแม้ไม่มีอำนาจรัฐ แต่ถ้าเราพึ่งพาและร่วมมือกับคนในชุมชน จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้ จึงขอให้สื่อมวลชนบางกอกน้อยโมเดลซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมแก้จนของพรรคเพื่อไทยต่อไป เพื่อจะทำให้ของดีที่อยู่ในชุมชนได้โชว์ออกไป เป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน รักษาเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจและส่งเสริมพระพุทธศาสนาได้ด้วยโครงการนี้เกิดจากความตั้งใจดีของพี่น้องในชุมชน นวัตกรรมเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญที่เราจะหามาช่วย 3 อย่างนี้จะทำให้บางกอกน้อยโมเดลประสบความสำเร็จ เราขอเวลาไม่นาน ไม่นานจริงๆ ไม่ต้องร้องเพลง แล้วจะทำให้เห็นว่าเราพึ่งพาตัวเองได้แม้รัฐไม่ช่วยก็ตาม

จากนั้นเยี่ยมชมงานหัตถกรรมขันลงหิน ที่ชุมชนบ้านบุ และพบปะประธานชุมชน และประชาชน เขตบางกอกน้อย พร้อมประชุมกับคณะทำงานพื้นที่ เพื่อพัฒนาบางกอกน้อยโมเดล และเยี่ยมชมฉัตรพระราชทาน 5 ชั้น จากรัชกาลที่ 1 ที่มัสยิดกุฎีหลวงมัสยิดแห่งแรกของประเทศไทย สร้างในรัชกาลที่ 1

ภาพ อสมท.