posttoday

ลั่นให้โอกาส“บิ๊กตู่”1 ปีปฏิรูปตำรวจในฐานะนายกฯคุมสตช.

30 กรกฎาคม 2562

“คณิต”ชี้ทางออกวิฤตยุติธรรมไทย ต้องรื้อ “สายพานกระวนการยุติธรรม"ให้โอกาส "บิ๊กตู่" 1 ปีปฏิรูปตำรวจ

“คณิต”ชี้ทางออกวิฤตยุติธรรมไทย ต้องรื้อ “สายพานกระวนการยุติธรรม"ให้โอกาส "บิ๊กตู่" 1 ปีปฏิรูปตำรวจ

30 ก.ค.62 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) จัดเสวนา เรื่อง “จะปฏิรูประบบงานสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม และประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่น” โดยศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานที่ปรึกษาฯ กล่าวปาฐกถา พิเศษหัวข้อ “วิกฤตกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย จะปฏิรูปอย่างไรให้ผู้คนเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่น”ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ทั้งระบบเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาด้นสังคมด้วย

ดังนั้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และ การสร้างความเข้าใจแก่สังคม ปัญหาปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม คือ การวางเฉยของศาลยุติธรรม และ การขาดองค์ความรู้บทบาทอัยการ ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมไทย มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก รวมถึงองค์กรในการกระบวนการยุติธรรม ระบบภายในใหญ่โตขาดประสิทธิภาพ จึงต้องลดค่าใช้จ่าย แต่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ดีขึ้น และ อัยการต้องสังกัดในกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการการทำงาน

“กระบวนการที่ดี คือ การบังคับใช้กฎหมาย ที่เข้มแข็ง ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเท่าไร ขณะที่เกาหลีใต้ สิ่งแรกของผู้นำประเทศเข้ามารับตำแหน่ง คือ ปราบคอร์รัปชัน โดยใช้ อัยการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามคอร์รัปชัน” ศ.ดร.คณิต กล่าว

ศ.ดร.คณิต กล่าวว่าอัยการ ควรอยู่กระทรวงยุติธรรม แต่ทางอัยการกลัวถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแทรกแซง ขณะที่ “สายพาน” กระวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล และ กรมราชทัณฑ์ ที่สร้างปัญหา “นักโทษล้นคุก”ดังนั้นต้องลดคดีเข้าสู่สายพานกระบวนการยุติธรรมให้น้อยที่สุด ดังนั้นการตรวจสอบความจริงในคดีอาญาในการรวบรวมพยานหลักฐาน จึงอยากเสนอแนวทางในการปฏิรูป ดังนี้ ควรมีการผลักดันการศึกษาด้านกฎหมายโดยเฉพาะฝ่ายอัยการ ต้องมีความรับผิดชอบ 4 ประการ คือ 1.ความถูกต้องของกฎหมาย 2.ความถูกต้องตามระเบียบ 3.ความรอบคอบ และ 4.ความเชื่อถือศรัทธาของอัยการ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปการตรวจสอบความจริงก่อนการประทับรับฟ้อง เพื่อลดปริมาณคดีในชั้นศาล

ศ.ดร.คณิต กล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย คือ การสอบสวนฟ้องร้องต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน องค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงานต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ หรือแม้แต่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ปปช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันการทุจริตภาครัฐ(ปปท.) ที่สำคัญฝ่ายการเมืองต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ ที่สำคัญบทบาทอัยการในการร่วมสอบสวนคดีพิเศษ และ การปฏิรูปการทำงานองค์กรต่างๆ ต้องกล้าทำ รวมถึงการปฏิรูป “ศาลพิจารณา” คือ ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา ต้อง เป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจทางสังคม เพราะปัจจุบันสังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้อ่อนมาก

“พฤติกรรมของคนในกระบวนการยุติธรรม ขาดภาวะวิสัย ทำงานด้วยความกลัว และร้ายที่สุด คือ กลัวการเมือง มักประจบประแจงฝ่ายการเมือง หากเป็นแบบนี้ประชาชนจะพึ่งพาใครได้ ยิ่งประสิทธิภาพการบริหารจัดการยิ่งแย่ คุมคามสิทธิ และ ค่าใช้จ่ายในการกระบวนการยุติธรรมสูง จึงถึงเวลาในการปฏิรูป” ศ.ดร.คณิต กล่าว

ลั่นให้โอกาส“บิ๊กตู่”1 ปีปฏิรูปตำรวจในฐานะนายกฯคุมสตช.

หยุดตำรวจผูกขาดอำนาจสั่งฟ้อง-เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน

ด้าน ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ “คนชั่วทำเลวไม่ได้” คือ ทำอย่างไรให้การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานสมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำไปเสนอในชั้นศาล ที่เหลือเป็นอำนาจในการตัดสินของศาล แต่หากพยานหลักฐานในพื้นที่เกิดความละหลวม โดยมีหน่วยงานเดียวผูกขาด คือ ตำรวจ เก็บพยานหลักฐานเพียงหน่วยงานเดียว เช่น กล้องวงจรปิด ลายนิ้วมือ หรือ รอยเลือด ฯลฯ เช่น คดีเสือดำ หรือ คดีจ่านิว ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ดี คือ การเก็บพยานหลักฐานที่ดีครบถ้วน แต่ปัจจุบันการเก็บพยานหลักฐานถูกผูกขาดเพียงหน่วยงานเดียวนั้นคือ ตำรวจ

“กระบวนการยุติธรรมไทย ปัจจุบัน คือ จับผู้ต้องหาเข้าคุกทันที แต่กลับพบว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ในภายหลังและอัยการไม่สั่งฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาติดคุกฟรีและไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐด้วย ขณะที่บทบาทอัยการต้องเป็นสากล คือ ต้องได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ทำคดีให้ได้มาซึ่งบทลงโทษ”

ดร. กล่าวว่า การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอย่าไปกังวล หากมีพยานหลักฐานสามารถสั่งฟ้องได้อีก และหากอัยการอยู่ในกระบวนการเก็บพยานหลักฐาน ถือเป็นการคานอำนาจ “ตำรวจ” จึงไม่ควรกลัวอัยการจะเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุ และการสั่งคดีของอัยการในต่างประเทศ จะสั่งคดีเมื่อมั่นใจว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ ไม่ว่าคดีนั้นจะร้ายแรงเพียงใด และ การกักขังผู้ต้องหาด้วยเหตุผล คือ หลบหนี คดีร้ายแรง ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือ ภัยอันตรายต่อสังคม แต่สังคมไทย คือ จะปล่อย หรือ ขังใคร คือ มีเงินมีอำนาจหรือไม่

“การฟ้องคดีปัจจุบัน อัยการไม่เห็นพยานหลักฐานจนวันสืบพยาน หรือวันฟ้องร้อง นี่คือจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก นี่คือ กระบวนการยุติธรรมกบในกะลา เพราะไม่รู้ว่าระบบยุติธรรมสากลเป็นอย่างไร คือ ขังก่อน สั่งไม่ฟ้องทีหลัง นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ดังนั้นถ้าให้คะแนนความยุติธรรมแก่ประชาชน คือ ศูนย์” ดร.น้ำแท้ กล่าว