posttoday

ผิดตั้งแต่กรรมการสรรหา! "ธีระชัย" ชี้คสช.แต่งตั้ง สว.ขัดรัฐธรรมนูญ

16 มิถุนายน 2562

อดีตรมว.คลังระบุ คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหา สว. ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้การแต่งตั้ง สว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อดีตรมว.คลังระบุ คสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหา สว. ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุไม่ได้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ทำให้การแต่งตั้ง สว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 62 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงการแต่งตั้ง สว. ว่าผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีเนื้อหาดังนี้

"การแต่งตั้ง สว.ผิดรัฐธรรมนูญ หรือไม่?"

ผมขอแสดงความเห็นทางกฎหมายว่า

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269(1) คสช.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองด้วย

แต่คสช.กลับแต่งตั้งกรรมการสรรหาส่วนใหญ่จากทหาร ไม่ได้แต่งตั้งผู้มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายด้านตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อีกทั้งบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ก็ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เพราะมีหลายคนเป็นรัฐมนตรี หรือเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งที่การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ

และจากการที่กรรมการสรรหาต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง แสดงว่าตัวกรรมการเอง ย่อมไม่อาจได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองได้

การเลือกสมาชิกวุฒิสภาจากกรรมการสรรหาด้วยกัน ย่อมทำให้ผู้ที่สมควรได้รับเลือก แต่มิได้เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้รับเลือกตามจำนวนที่มีการเลือกกรรมการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา

การกระทำเช่นนี้ จะเป็นกลางทางการเมืองได้อย่างไร

ดังนั้น การเลือกกรรมการสรรหาหลายคนให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกกรรมการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้

ส่วนเรื่องการมิได้ประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาในราชกิจจานุเบกษา และเพิ่งจะมาประกาศรายชื่อเร็วๆ นี้ทางสื่อมวลชน ก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย

เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้กำหนดให้ประกาศรายชื่อทางราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ และเป็นผู้ความเป็นกลางทางการเมืองด้วย

หากคสช.ไม่เปิดเผยรายชื่อโดยเร็วหลังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าคสช.แต่งตั้งกรรมการสรรหาซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้หรือไม่

ประชาชนไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน

กว่าจะรู้ ก็ในเมื่อประกาศรายชื่อหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว

ในทางกลับกัน ถ้าหากมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหาเมื่อมีคำสั่งแต่งตั้งทันทีหรือโดยเร็วในราชกิจจานุเบกษา ประชาชนย่อมโต้แย้งคัดค้านได้ว่าการแต่งตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากแต่งตั้งจากทหารเป็นส่วนใหญ่ มิได้แต่งตั้งจากบุคคลหลากหลายความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ และมิได้แต่งตั้งจากบุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้

การไม่ประกาศรายชื่อแต่เนิ่นๆ แต่มาประกาศภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าคสช.เกรงการถูกโต้แย้งคัดค้านจากประชาชนเนื่องจากตนกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อันที่จริง คสช.จะหาคนในหมู่ที่นิยมชมชอบคสช.ที่มีคุณสมบัติ เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหานั้น ก็ไม่น่าจะยาก

แต่คสช.กลับยึดหลักคนที่ควบคุมได้ มากกว่ายึดหลักที่บัญญัติไว้เองในรัฐธรรมนูญ วิธีนี้จึงอาจจะนำไปสู่การร้องเรียนอีกรอบหนึ่ง