posttoday

ปลุก5มิ.ย.!!!3ข้อที่ส.ส.-ส.ว.ไม่ควรโหวต'ลุง'เป็นนายกฯ

01 มิถุนายน 2562

"อนุสรณ์ อุณโณ"คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยก3เหตุผลที่ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ควรโหวต “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี

"อนุสรณ์ อุณโณ"คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ยก3เหตุผลที่ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ควรโหวต “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี

นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กAnusorn Unno โดยระบุ ว่าในการเปิดประชุมสภาวันที่ 5 มิถุนายน นี้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ควรโหวต “ลุง” เป็นนายกฯ ด้วยเหตุผลดังนี้

1.“ลุง” มาจากพรรคการเมืองที่ทำลายกติกาและมารยาททางการเมือง เพราะนอกจากชื่อพรรคการเมืองนี้จะจงใจตั้งให้พ้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อให้จดจำง่ายและใช้ประโยชน์ในการหาเสียง บรรดาผู้บริหารพรรคก็เป็นรัฐมนตรีที่ชิงเก็บคะแนนล่วงหน้าในช่วงเวลาที่พรรคการเมืองอื่นยังถูกห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และแม้ต่อมาผู้บริหารพรรคเหล่านี้จะลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีเพราะกระแสกดดันของสังคม แต่ “ลุง” ก็ยังดึงดันที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อแม้จะตอบรับคำเชิญการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคนี้แล้ว

นอกจากนี้ แม้จะได้จำนวน ส.ส. เป็นลำดับสอง แต่พรรคการเมืองนี้ก็ยังหน้าด้านอ้าง popular votes อย่างผิดๆ ในการอ้างความชอบธรรมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเดินสายส่งเทียบเชิญพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมพร้อมกับโหวต “ลุง” เป็นนายกฯ และเมื่อถูกพรรคการเมืองอื่นต่อรองมากเข้า พรรคการเมืองนี้ก็ทำท่าจะไปพึ่งพา ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งมาในการโหวต “ลุง” เป็นนายกฯ แล้วตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ก็ขู่ว่าจะยุบสภาแทน หากไม่หยุดกระบวนการนี้ไว้ประเทศก็จะไม่เหลือกติกาและมารยาททางการเมืองให้ยึดถือกันต่อไปอีก

2.“ลุง” เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เพราะ “ลุง” และพรรคการเมืองนี้เป็นร่างทรงของคณะรัฐประหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจด้วยการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยและทำลายระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้งไม่เพียงแต่ถูกออกแบบมาเพื่อสลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง หากแต่ยังบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนด้วยการทำให้จำนวน ส.ส. เขตผกผันกับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และยิ่งบวกกับวิธีการคำนวณเก้าอี้ ส.ส. ของ กกต. ด้วยแล้ว เจตนารมณ์ของประชาชนก็ยิ่งหล่นหายและกลายเป็นช่องทางเข้าสู่สภาของ ส.ส.กเฬวรากจำนวนมาก

ขณะที่ในส่วนของระบบรัฐสภา นอกจากจะย้อนเวลากลับไปให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ยังให้อำนาจ ส.ว. โหวตนายกฯ รวมถึงผ่านกฎหมายโดยความร่วมมือของศาลรัฐธรรมนูญในบางกรณี เพราะเชื่อว่า ส.ว. เหล่านี้จะอยู่ใต้อาณัติและตอบแทนบุญคุณด้วยการโหวต “ลุง” ที่แต่งตั้งพวกเขามาเป็นนายกฯ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ในสภา รัฐสภาจึงไม่ได้เป็นสถานที่ที่ตัวแทนประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะตรวจสอบถ่วงดุลกัน หากแต่เป็นช่องทางให้คณะรัฐประหารได้บงการประเทศต่อไปอย่างไม่ชอบ วิธีเฉพาะหน้าที่จะกู้วิกฤติประชาธิปไตยและรัฐสภาได้ก็คือการไม่โหวต “ลุง” เป็นนายกฯ

3. “ลุง” ไม่สามารถพาประเทศฝ่าวิกฤติได้ เพราะนอกจาก “ลุง” จะไม่ตระหนักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา “ลุง” ยังขาดคุณสมบัติผู้นำอย่างรุนแรง “ลุง” ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ได้เมื่อเผชิญคำถามยากหรือไม่ถูกใจ แทนจะใช้เหตุผลและข้อมูลในการหักล้าง “ลุง” กลับใช้กริยาเกรี้ยวกราดหยาบคายยุติการซักถามเสีย แล้วอย่างนี้ “ลุง” จะรับมือกับการอภิปรายในสภาได้อย่างไร ขณะเดียวกัน “ลุง” ก็ไม่มีสติปัญญาพอที่จะจับใจความสำคัญของหนังสือที่ใครก็เข้าใจหรือไม่ “ลุง” ก็ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเลย

ที่ผ่านมา “ลุง” อาจช่วยให้ประเทศดูสงบเพราะอาศัยรถถังและกฎหมายเถื่อน แต่ก็เป็นเพียงภาพลวงตาและรอเวลาปะทุมากกว่าเก่า เพราะในด้านหนึ่งก็มีความไม่พอใจที่ “ลุง” และพวกไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปตามที่ให้สัญญาไว้ได้ ผู้เห็นต่างที่บางส่วนถูกจับกุมคุมขัง ข่มขู่คุกคามและรุมทำร้าย กลายเป็นศพอย่างปริศนาหรือว่าหายตัวอย่างไร้ร่องรอยก็สั่งสมความคับแค้นมากขึ้นทุกวัน ไม่นับรวม “คนรุ่นใหม่” ที่ผิดหวังและเจ็บแค้นใจกับการถูก “ฉ้อโกง” ผลการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต

ขณะที่การดำเนินนโยบายรัฐแบบสมคบทุนใหญ่แล้วเจียดกำไรมาสงเคราะห์คนอนาถาได้ก่อปัญหาและผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อบุคคล ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ไม่จำกัดว่าจะสนับสนุนขั้วการเมืองไหน ประเทศชาติและประชาชนจะเป็นอย่างไรหากให้ “ลุง” และพวกปกครองประเทศต่อไปอีก

ผมจึงคิดว่า ส.ส. และ ส.ว. ไม่ว่าจะเข้ามาด้วยวิธีไหน สง่างามหรือไม่ จะต้องถามตัวเองให้หนักว่ารู้อย่างนี้แล้วในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ ยังจะโหวตให้ “ลุง” เป็นนายกฯ อีกหรือ จะเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะหน้า จะเลือกตอบแทนบุญคุณด้วยความขลาดเขลา หรือว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และร่วมกันสร้างนิติรัฐและนิติธรรม ก็เลือกเอาว่าพวกคุณอยากจะถูกจดจำอย่างไร