posttoday

"คำนูณ" ไขปม หุ้นสื่อมวลชนของ"ธนาธร"

30 มีนาคม 2562

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปฯ "คำนูณ สิทธิสมาน" โพสต์ ไขปม กรณี หุ้นสื่อมวลชนของ"ธนาธร"

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปฯ "คำนูณ สิทธิสมาน" โพสต์ ไขปม กรณี หุ้นสื่อมวลชนของ"ธนาธร"

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ว่า หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
___________

เดิมที รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไว้ในมาตรา 48 หมวดสิทธิเสรีภาพ ต่อท้ายมาตราว่าด้วยคลื่นความถี่ และย้ำอีกทีไว้ในมาตรา 265 - 268 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ ห้ามทั้งส.ส., ส.ว. และรัฐมนตรี

หมายความว่าถ้ามีหุ้นดังกล่าวอยู่ก็ให้จัดการเสียให้เรียบร้อยก่อนเมื่อจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ไม่ใช่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนมาสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนโทษของการกระทำต้องห้ามนั้น ถ้ายังคงมีหุ้นกิจการดังกล่าวอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะโดยเหตุใด ถือเป็นเหตุที่จะทำให้ขาดจากสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 106, 119 และ 182 ทั้งนี้โดยกระบวนการที่จะไปจบที่การวินิึจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91

แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ยกระดับขึ้นไปอีกในทุกมิติ

คือห้ามตั้งแต่ขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง !

โดยเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งก็ถูกโยงไปเป็นลักษณะต้องห้ามของการเป็นส.ว.และรัฐมนตรีด้วยตามมาตรา 108 และ 160

"(3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"

โดยพ.ร.ป.เลือกตั้งฯนำมาเขียนรับไว้ในมาตรา 42 (3)

ตรงนี้แตกต่างจากเดิมชัดเจน คือห้ามถือหุ้นฯตั้งแต่ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเลย

ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนวันไปยื่นใบสมัคร

นอกจากนั้น โทษของการกระทำการอันมีลักษณะต้องห้ามประการนี้ยังไม่ใช่แค่ขาดสมาชิกภาพและพ้นจากตำแหน่งเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น

แต่ถ้ารู้อยู่แล้วยังคงกระทำไป มีโทษหนักทั้งทางอาญาและทางการเมือง

บัญญัติอยู่ในพ.ร.ป.เลือกตั้งฯมาตรา 151

- จำคุก 1 - 10 ปี

- ปรับ 20,000 - 200,000 บาท

- เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ประเด็นของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจกล่าวโดยสรุปคือเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิสรารายงานว่าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีการแจ้งวันเปลี่ยนแปลงทะเบียนผู้ถือหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดียอันเป็นกิจการผลิตนิตยสารที่เขากับภรรยาเคยถืออยู่จำนวนหนึ่งไปให้มารดาของเขาต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นวันหลังวันสมัครรับเลือกตั้งส.ส. 6 กุมภาพันธ์ 2562 จึงตั้งคำถามว่าจะเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

https://www.isranews.org/isranews…/74945-report00-74945.html

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ชี้แจงในวันรุ่งขึ้นโดยมีเอกสารประกอบว่าความจริงแล้วเขาขายหุ้นให้มารดาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน

คือกำลังบอกว่าโอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. แต่บริษัทแจ้งต่อนายทะเบียนฯหลังวันสมัคร

มีผู้ไปร้องเรียนต่อก.ก.ต.ให้สอบสวนเรื่องนี้

ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 2562 สำนักข่าวอิสราได้เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 22 มีนาคม 2562 ที่บริษัทวี-ลัคมีเดียแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯถึงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 มีนัยให้เข้าใจได้ว่าวันที่ 19 มีนาคม 2562 มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 10 คน ซึ่งน่าจะรวมธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจและภรรยาด้วย

คำถามคือถ้าทั้งสองโอนหุ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 แล้วจะมาเข้าร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 อีกทำไม

https://www.isranews.org/isranews/75047-report00-75047.html

ล่าสุด เจ้าตัวชี้แจงว่าตนและภรรยาไม่ได้ร่วมประชุมในวันที่ 19 มีนาคม 2562 ส่วนทำไมมีเอกสารแจ้งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯเช่นนั้นไม่ทราบ และเปิดประเด็นใหม่ว่าสาเหตุที่ขายหุ้นให้มารดาเพราะบริษัทกำลังจะเลิกกิจการ

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ ในกรณีสมัครรับเลือกตั้งโดยปราศจาก 'ลักษณะต้องห้าม' นี้จะยึดถือวันใดเป็นวันโอนหุ้นจริง

1. ยึดวันที่บริษัทฯแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ - วันที่ 21 มีนาคม 2562

หรือ...

2. ยึดถือวันที่มีการโอนกันจริงตามที่อ้าง - วันที่ 8 มกราคม 2562

มีข้อกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 1129 วรรคสาม

"มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น

"การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

"การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น"

ประเด็นตามวรรคสามนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโดยตัวบทแล้วหมายถึงการจดแจ้งลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นหมายถึงสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่ตั้งอยู่ ณ บริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ต้องไปแจ้งต่อนายทะเบียนหุ้นส่วน

บริษัทฯทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยปกติจะไปแจ้งต่อนายทะเบียนฯปีละ 1 ครั้ง

แต่อีกฝ่ายเห็นว่าสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นอยู่ที่บริษัท คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรหากไม่แจ้งต่อนายทะเบียนฯที่กระทรวงพาณิชย์ เอกสารโอนหุ้นทำกันโดยลงวันที่ใดก็ได้ คนภายนอกจะรู้ได้อย่างไรว่าโอนจริงตามวันที่ในเอกสารหรือทำขึ้นย้อนหลัง

โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่ 'คนภายนอก' เป็น 'ก.ก.ต.' ที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะสกรีนบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามออกไปจากการอาสามาเป็นผู้แทนประชาชน !

ก.ก.ต.จะรู้ได้อย่างไรว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ยังถือหุ้นปัญหาอยู่หรือไม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะเอกสารที่ทางราชการรับทราบการโอนหุ้นของเขาเป็นครั้งแรกคือวันที่ 21 มีนาคม 2562 

 
หากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจจะได้แนบสำเนาตราสารโอนหุ้นวันที่ 8 มกราคม 2562 ต่อก.ก.ต.เสียในวันสมัครรับเลือกตั้งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ก็น่าจะจบปัญหา

แต่ก็ไม่ได้ยื่น เพราะก.ก.ต.ไม่ได้กำหนดให้ยื่น โดยใช้วิธีเพียงให้ผู้สมัครทุกคนลงนามรับรองคุณสมบัติโดยรวมของตนเองไว้เท่านั้น

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 นี้ให้เทียบเคียงหลายคดี

_______________

กระบวนการสอบสวนจะเริ่มต้นจากก.ก.ต.

ถ้าก.ก.ต.เห็นว่าเข้าข่ายขัดกฎหมาย

เรื่องจะไปจบที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง

#หุ้นสื่อมวลชนของธนาธร