posttoday

หมัดต่อหมัด "กรณ์" เทียบนโยบายแรงงาน ประชาธิปัตย์ vs พลังประชารัฐ

15 มีนาคม 2562

กรณ์ ชำแหละ นโยบายแรงงาน ประชาธิปัตย์ vs พลังประชารัฐ

กรณ์  ชำแหละ นโยบายแรงงาน ประชาธิปัตย์ vs พลังประชารัฐ

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij แจงการใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อให้สอดรับกับชุดนโยบาย แก้จน สร้างคน สร้างชาติ ของพรรคประชาธิปัตย์  โดยระบุว่า ก่อนอื่นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ผู้มีส่วนได้เสียต่อนโยบายนั่นคือ 1) พี่น้องแรงงานทุกคน ที่เป็นลูกจ้างทั่วประเทศ 2) เจ้าของกิจการไม่ว่าจะใหญ่ เล็ก SMEs 3) ประชาชนทุกคนที่เสียภาษีมาให้พวกเราใช้พิจารณาใช้งบประมาณผ่านนโยบาย

“ช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายในการหาเสียง หลายพรรคการเมืองออกมาเกทับบลัฟแหลกกันจนประชาชนปวดหัว แต่นี่เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำ เพราะเราทำชุดนโยบาย “แก้จน-สร้างคน-สร้างชาติ” เอาไว้เสร็จพร้อมนานแล้วจากการทำนโยบายมาตลอด 5 ปี”

ต่อประเด็น นโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของพรรคพลังประชารัฐ ท่านประยุทธ์ได้พูดไว้เมื่อปีที่แล้วว่า “ปกติควรจะปรับขึ้นเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี” และ “เมื่อจะขึ้นค่าแรงทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการล่มสลาย เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม” (ไทยรัฐ 24 มค. 61)  จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ท่านได้ปล่อยให้พรรคของท่านเสนอนโยบายชุดนี้ (ตามภาพ) เพราะนโยบายนี้ขัดกับสิ่งที่รัฐบาลท่านได้ทำมาตลอด

ผมขอชี้แจงเพิ่มเติมเปรียบเทียบในเนื้อหา “นโยบาย” ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและผู้ประกอบการดังนี้ครับ

1. พปชร.เสนอค่าแรง 425 บาท ผมต้องถามดังๆว่า ได้ถามผู้ประกอบการหรือยังว่าเขาไหวหรือไม่ ประชาธิปัตย์เราประเมินว่าสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันผู้ที่เหนื่อยที่สุดคือ SME เราจึงตัดสินใจ ลดภาษีธุรกิจ SME จาก 20 เป็น 10% พร้อมใช้หลักของนโยบาย #ประกันรายได้ มาใช้กับผู้ใช้แรงงานด้วย โดยบอกว่าเราจะรับภาระ ‘ส่วนต่าง’ ให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ไม่ตํ่ากว่าเดือนละ 1 หมื่นบาท (ปีละ 120,000บาท) โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ประกอบการ ที่เหลือก็ว่ากันไปตามทักษะของแรงงาน ที่เราจะมีเสริมเรื่อง #คูปองเสริมทักษะ ให้แรงงานไม่ว่าจะวัยใดก็ได้พัฒนาฝีมือ

2. ปริญญาตรี 20,000 ของพลังประชารัฐ นี่ก็ออกมาในแนวนโยบายพรรคเพื่อไทยปี 2554 ซึ่งเราก็วิพากษ์วิจารณ์แต่ครั้งนั้นว่าเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับระบบการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาของไทย

วันนี้เรามีเด็กเรียนสายสามัญเพื่อได้ปริญญาตรีอยู่ 70% เรียนสายวิชาชีพเพียง 30% (สัดส่วนนี้สลับกันกับสิงค์โปร์ และประชาธิปัตย์มีเป้าจะปรับสัดส่วนเป็น 50:50)
ประชาธิปัตย์เราจึงเสนอให้มีการ #เรียนฟรีปวส เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เด็กไทยเลือกเรียนสายวิชาชีพมากขึ้น จบแล้วหางานทำได้ ถ้าจะเพิ่มคุณภาพและเงินเดือน ควรเพิ่มให้เด็กอาชีวะเป็นแรงงานมีฝีมือทักษะสูง

3. ส่วนเรื่องการลดภาษีบุคคลธรรมดาของพปชร.บอกว่าจะลด 10% ความหมายของ พปชร.คือจาก 35 เป็น 25 หรือจาก 10 เป็น 0 ซึ่งผมมีสามประเด็นที่กังวล คือ 1) ฐานภาษีที่เล็กอยู่แล้วจะหดลงไปอีกมาก เพราะจะมีผู้เสียภาษีเงินได้เหลือเพียง 1 ล้านคนจากประมาณ 4 ล้านคนในปัจจุบัน 2) รัฐจะสูญเสียรายได้กว่าครึ่งของที่ได้อยู่คือกว่า 170,000 ล้านบาท ซึ่งเนื่องจากไม่ปรากฎว่า พปชร. มีนโยบายหารายได้เพิ่มจากส่วนอื่น นั่นหมายความว่าเราต้องกู้เพิ่มเติมในจำนวนนั้น 3) ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากสุดจากนโยบายนี้คือผู้มีรายได้สูงสุดในประเทศ

โดยนายกรณ์ย้ำว่า ประชาธิปัตย์เสนอลดภาษีให้ผู้เฉพาะผู้มีรายได้ปานกลางแต่คงอัตราเดิมกับผู้มีรายได้สูง หากท่านชอบใคร ขอให้พิจารณาที่ตัวชุด “นโยบาย” เป็นหลัก

หมัดต่อหมัด "กรณ์" เทียบนโยบายแรงงาน ประชาธิปัตย์ vs พลังประชารัฐ