posttoday

"กรณ์"ลั่นปชป.ดูแลรายได้คนไทยทั้งระบบ

23 กุมภาพันธ์ 2562

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลั่นดูแลรายได้คนไทยทั้งระบบ ประกันรายได้เกษตรกร พ่วง ประกันรายได้แรงงาน สู่เป้าหมายนโยบาย "แก้จน" ในภารกิจแก้จนสร้างคนสร้างชาติ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลั่นดูแลรายได้คนไทยทั้งระบบ ประกันรายได้เกษตรกร พ่วง ประกันรายได้แรงงาน สู่เป้าหมายนโยบาย "แก้จน" ในภารกิจแก้จนสร้างคนสร้างชาติ

เมื่อวันที่ 23 กพ. นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตนในฐานะที่เป็น รมว.คลัง ได้ทำนโยบายประกันรายได้ เป็นครั้งแรก และในช่วงระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน ที่เป็นรัฐบาล ได้ใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐจ่ายส่วนต่างราคาข้าวให้ชาวนาประมาณ 200,000 ล้านบาทหรือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้ามาบริหารประเทศในระยะเวลาใกล้เคียง ใช้เงินไปกับโครงการจำนำข้าว 800,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่เสียหายขาดทุนและเป็นภาระหนี้สินต่อประเทศ อีกเป็นสิบ ๆ ปี ผู้เสียภาษีต้องชำระหนี้ที่เกิดจาความเสียหายในโครงการดังกล่าวถึงปีละ 30,000 ล้านบาท ตรงนี้ตรวจสอบได้

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า หาก ปชป.ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล ก็จะเดินหน้าประกันรายได้เกษตรกรต่อไป และจะขยายผลไปยังผู้ใช้แรงงานด้วย โดยจะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น วันนี้ไม่ต้องถามว่าถ้าค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 320 ต่ำเกินไปไหมเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ก็ต้องบอกว่าต่ำมาก เพียงแต่ถ้าเราจะมาผลักค่าแรงขั้นต่ำสมมติว่าอยู่ที่ 400 บาท ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง เศรษฐกิจอาจจะชะงักงัน และเกิดการว่างงานจากการเลิกจ้าง เมื่อทั้งลูกจ้างและนายจ้างเองได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่าย ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องมาเติมรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน แบ่งภาระนี้มาจากผู้ประกอบการ คือใช้เงินภาษี ไม่ได้บอกว่าจะขึ้นให้เป็น 400 บาทแต่รัฐจะอุดหนุนเพิ่มในส่วนของผู้ประกอบการ ถามว่าทำไมต้องใช้เงินภาษีอีก ก็ต้องบอกว่า นั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินภาษี ไม่งั้นจะเก็บมาทำไม

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะหารายได้จากไหนมาจ่ายให้กับผู้ใช้แรงงาน นอกจากเงินภาษี ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าเข้าไปดูเว็ปไซต์ของพรรค www.democrat.or.th อันดับแรกคือมีการคำนวนรายละเอียดเลยว่า นโยบายของเราจะต้องใช้เงินภาษีเท่าไร โดยรวมทั้งหมดเราจะต้องใช้เงินภาษีเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร ซึ่งมันก็จะปรากฎชัดว่าเม็ดเงินทั้งหมดที่ต้องใช้ อยู่ที่ประมาณ 390,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินในแง่ของรายได้บวกกับการกู้ยืมผ่าน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ มันอยู่ในกรอบที่เราสามารถทำได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศ คำนวณไว้ให้หมด วงเงินกู้อยู่ระดับตามเกณฑ์ความมั่นคงของกระทรวงการคลังที่กำหนดไว้ หนี้สาธารณะก็ไม่ได้มีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นในระดับที่จะเป็นปัญหาแต่อย่างใด ในฐานะที่เป็นอดีต รมว.คลัง เรื่องพวกนี้ต้องทำอยู่แล้ว และเชื่อว่ามีความชัดเจนมากกว่าทุกพรรค

“ผมไม่อยากให้ใช้วาทกรรมว่า พรรคไหนดีแต่กู้ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนที่ไม่กู้ ประเด็นคำถามคือ กู้มาแล้วใช้เงินทำอะไรมากกว่า งบประมาณที่เอาไปใช้มีผลตอบแทนที่คุ้มค่า มันไปถูกจุด มันไปสู่ มือผู้ที่เดือดร้อนหรือไม่ นั่นคือตัวชี้วัดที่สำคัญมากกว่าวาทกรรม ว่ากู้หรือไม่กู้ เพราะไม่มีใครไม่กู้” อดีต รมว.คลัง กล่าว

เมื่อถามว่า หากทุกรัฐบาลกู้แล้วปริมาณหนี้สาธารณะจะไม่เพิ่มขึ้นหรือ ประธานกรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไป 10 ปี สัดส่วนหนี้สาธารณะเขาจะวัดกันที่ จีดีพี คือเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ณ ปัจจุบันก็อยู่ทีประมาณ 41% ถ้าย้อนกลับไป 10 ปีก็อยู่ที่ 41% บวกลบไม่เกิน 2 มีขึ้นมีลงภาวะเศรษฐกิจ สมัยตนเป็น รมว.คลัง เป็นช่วงที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ จำเป็นต้องอัดฉีดด้วยนโยบายทางการคลัง ทำให้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 44% แต่หลังจากนั้นเราสามารถบริหารเศรษฐกิจให้มันฟื้นตัวได้ ปีถัดมาจีดีพีเพิ่มขึ้น ฐานการคำนวณการคำนวณเปรียบเทียบกับตัวหนี้มันก็ใหญ่ขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นสัดส่วนจึงกลับลงมาในระดับปกติ นั่นหมายความว่า โดยรวมถ้าเราสามารถบริหารหนี้สาธารณะของประเทศให้อยู่ในระดับ 41-42% ประเด็นปัญหาในเรื่องเสถียรภาพทางการคลังจะไม่มี ความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศ และคนไทยด้วยกัน ต่อเสถียรภาพทางการเงินจะค่อนข้างมั่นคง

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงวาทกรรมที่รัฐบาลมักจะเจอกับคำว่า เอาเงินภาษีของชนชั้นกลางไปอุดหนุนเกษตรกร ว่า เราต้องระวังวาทกรรมเหล่านี้ เพราะต้องรู้ก่อนว่าคนไทยทุกคนเสียภาษี ทั้งในรูปของภาษีบุคคลธรรม และภาษี vat ปัจจุบันมีคนไทยที่เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคลประมาณ 11 ล้านคน ที่ต้องเสียเพิ่มในแต่ละปีก็อยู่ประมาณ 4 ล้านคน นอกนั้นเป็นภาษีกำไรจากบริษัท เพราะฉะนั้นคนไทยทุกคนเสียภาษี เงินจึงเป็นเงินของคนไทยทุกคน หน้าที่ของรัฐบาลเมื่อรวบรวมมาแล้วก็ต้องจัดสรรตามความเหมาะสม ช่วยเหลือผุ้ยากไร้ ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนนั่นคือหน้าที่ ดังนั้นเมื่อเก็บภาษีมา แล้วคืนกลับไปให้กับผู้ที่เสียภาษีมากที่สุด ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามอันนั้นแสดงว่าไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ต้องเคลียร์ให้ชัดเจน