posttoday

โฆษกฯทัพไทย แจงเหตุที่ต้องมี "กองบัญชาการกองทัพไทย"

21 กุมภาพันธ์ 2562

พล.ต.กฤษณ์ ชี้แจงทำไมต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย-หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประกาศจะยุบหน่วทหารไม่จำเป็นถ้าได้บริหารชาติ

พล.ต.กฤษณ์ ชี้แจงทำไมต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย-หลัง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประกาศจะยุบหน่วทหารไม่จำเป็นถ้าได้บริหารชาติ

โฆษก ทัพไทย แจง “ทำไม ต้องมี “กองบัญชาการกองทัพไทย ?” หลัง”เสรีพิศุทธิ์” เสนอให้ยุบ บก.ทหารสูงสุด ชี้ ต้อง รบร่วม 3เหล่าทัพ ทำงานเป็น“Joint Operations” แนะควร ถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันพัฒนาและเสริมสร้างกองบัญชาการกองทัพไทย เตือน เล่นการเมือง สร้างสรรค์อย่าสร้างความขัดแย้ง เอาเริ่องกองทัพไปหาเสียง !!

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย ชี้แจงทำความเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของทหาร บก.ทท ว่า กองทัพไทยถือกำเนิดคู่กับความเป็นชาติไทย เหล่าทหารหาญได้พลีเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสร้างความผาสุกให้กับประชาชนมาตลอด เดิมที่มีเพียงกองทัพบก ต่อมาจึงได้จัดตั้งกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตามลำดับ

สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยนั้นได้จัดตั้งขึ้นในภายหลัง ซึ่งบางคนอาจมีคำถามว่า “ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย” บทเรียนที่ได้จากการปฏิบัติการทางทหารในยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบันและอนาคตนั้น ยากที่เหล่าทัพใดจะสามารถชนะในสนามรบได้โดยลำพัง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การรบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รุนแรงและครอบคลุม หลายมิติมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จึงจำเป็นต้องสนธิขีดความสามารถของทุกเหล่าทัพเข้าด้วยกันอย่างประสานสอดคล้อง เพื่อนำขีดความสามารถของกำลังเหล่าทัพหนึ่งไปชดเชยจุดอ่อนของกำลังอีกเหล่าทัพหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในวงการทหารรู้จักกันดีในนาม “การปฏิบัติการร่วม” หรือ “Joint Operations”

เมื่อมีการปฏิบัติการร่วม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการและกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะเสนาธิการร่วม (The U.S. Joint Chiefs of Staff) ขึ้นในปี ค.ศ.1942 (พ.ศ.2485) และได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย วางแผนและอำนวยการปฏิบัติการของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นหน่วยงานถาวรเพื่อทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากำลังสามเหล่าทัพใน พ.ศ.2503

ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการและกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย จึงจะเห็นได้ว่า การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการและกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วม ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง กองทัพของประเทศซึ่งมีหน่วยงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว ก็ล้วนพยายามพัฒนาให้มีบทบาทและความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศที่ยังไม่มี ก็พยายามจะจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ

ดังนั้น สิ่งที่ควรถามจึงไม่ใช่ “ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย” แต่สังคมควรถามว่า ทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันพัฒนาและเสริมสร้างให้กองบัญชาการกองทัพไทยสามารถขับเคลื่อนงานด้านการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายภายใต้สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประเทศชาติและลูกหลานไทยของเราทุกคน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง อาจมีการเชื่อมโยงนำกองทัพไปเป็นประเด็นในการหาเสียง จึงขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองขอให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้กล่าวพื้นที่หาเสียงวานนี้ ว่า ถ้าได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองจะไม่มีเกณฑ์ทหาร รวมถึงยุบหน่วยทหารที่ไม่จำเป็น เช่น กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพน้อย