posttoday

สนช.เชิญชาวนาร่วมถกกฎหมายข้าว พร้อมแจง 4 ประเด็นสังคมกังขา

18 กุมภาพันธ์ 2562

สนช.เชิญชาวนาถกกฎหมายข้าว พรเพชร ยัน สภาพิจารณารอบคอบ เพื่อช่วยชาวนา กมธ.แจง ไม่ทำกฎหมายเอาชาวนาติดคุก

สนช.เชิญชาวนาถกกฎหมายข้าว พรเพชร ยัน สภาพิจารณารอบคอบ เพื่อช่วยชาวนา กมธ.แจง ไม่ทำกฎหมายเอาชาวนาติดคุก

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 62 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เชิญตัวแทนเกษตรกรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่ที่ประชุมสนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 20 ก.พ.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวระหว่างร่วมการประชุมว่า ข้อวิจารณ์ต่างๆเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ สนช.กำลังพิจารณาดูอยู่ ส่วนถ้อยคำที่เกิดการตีความคลุมเครือนั้นสนช.จะแก้ไขให้เกิดความชัดเจนต่อไป

นายพรเพชร กล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาแล้ว สมาชิกสนช.ที่เหลือจะตรวจสอบให้รอบคอบอีกครั้ง โดยนำเอาความคิดเห็นของเกษตรกรมาเป็นตัวตั้ง

"เชื่อได้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและเป็นครั้งแรกที่เราเขียนขึ้นโดยลงลึกไปถึงวิถีชีวิตของชาวนา" นายพรเพชร กล่าว

ขณะที่ ภาพรวมของการประชุม กลุ่มเกษตรกรได้สลับกันสอบถามถีงความชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยกันเองได้หรือไม่ โดยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

คณะกมธ.ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ชาวนาที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าว สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ

จากนั้นภายหลังร่วมประชุมกันกว่า2ชั่วโมง คณะกมธ.ได้จัดทำเอกสารชี้แจงในสาระสำคัญหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังนี้

1.ประเด็นการที่มีการระบุว่า ชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หากเก็บเมล็ดพันธุ์เอง จะต้องโทษจำคุกและปรับ1แสนบาท

นับตั้งแต่ร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาตั้งแต่แรก กฎหมายได้เขียนยกเว้นในกรณีชาวที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้กันเองแล้วอย่างชัดเจน โดยไม่ถือเป็นความผิด และไม่มีการลงโทษจำคุกหรือปรับใดๆ นอกจากนี้ ถ้าชาวนามีเม็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรเสียเอง เช่นนี้ก็ต้องขอรับรองพันธุ์ข้าวก่อนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน คณะกมธ.ยังได้กำหนดบทเฉพาะกาล โดยให้มีการทยอยปรับตัวของผู้ที่ยังไม่รับรองพันธุ์ เพื่อเข้าสู่ระบบภายในเวลา 3 ปี โดยในล่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้พันธุ์รับรอง ยังขายได้ตามปกติและให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อครบ3ปีแล้ว สามารถพิจารณาทบทวนว่าจะต้องขยายเวลาออกไป หรือจะพิจารณาอย่างอื่นใดที่เห็นว่าจำเป็นเหมาะสมก็ได้

2.ร่างพ.ร.บ.ข้าว จัดทำขึ้นและเสนออย่างเร่งรีบและไม่รอบคอบ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอโดยกลุ่มสนช.ตั้งแต่เดือนส.ค.2561 แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องให้รัฐบาลรับรอง ก่อนที่จะกลับมาเสนอให้สนช.เมื่อเดือนพ.ย.2561 ดังนั้น ขั้นตอนการดำเนินการจึงเป็นไปตามกลไกปกติ ไม่มีการเร่งรัดในช่วงท้ายการทำงานของสนช.แต่อย่างใด

3.ประเด็นที่มีการระบุว่าร่างพ.ร.บ.ข้าว กำหนดการขึ้นทะเบียนชาวนาทุกรส และให้ผู้ประกอบการโรงสีต้องออกใบรับรองข้าวเปลือก

ประเด็นดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะการขึ้นทะเบียนชาวนาไม่มีการระบุเอาไว้ในกฎหมาย มีแต่เพียงมาตรา19 ว่าด้วยการให้กรมการข้าวเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ของภาครัฐ

ส่วนกรณีของผู้ประกอบการโรงสี ในร่างกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อข้าวเปลือกต้องออกใบรับซื้อข้าวเปลือก ซึ่งเป็นหลักฐานการรับซื้อข้าวเปลือกที่เกิดขึ้ตามความเป็นจริง และส่งสำเนาให้กรมการข้าว เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลดท่านั้น

4.ประเด็นที่มีการรายงานว่า มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรฯเข้าไปตรวจสอบโรงสีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

ในเรื่องนี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯมาตรวจใบรับซื้อ แต่ความจริง คือ เจ้าพนักงานที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.ข้าว มีหน้าที่ดูแล กำกับเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชเท่านั้น ไม่ใช่การไปตรวจใบรับซื้อ เพราะร่างพ.ร.บ.ข้าว ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้าข้าว เนื่องจากกรณีการค้าข้าว จะเป็นไปตามพ.ร.บ.ค้าข้าว พ.ศ.2489 โดยกระทรวงพาณิชย์และเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน

ที่สำคัญ อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามร่างพ.ร.บ.ข้าว ได้กำหนดไว้เช่นเดียวกับบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช ไม่ได้มีการเพิ่มเติมหรือกำหนดให้มีอำนาจไว้เป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด

สนช.เชิญชาวนาร่วมถกกฎหมายข้าว พร้อมแจง 4 ประเด็นสังคมกังขา