posttoday

"กรณ์" มั่นใจ ปชป.กวาดสส.พื้นที่ กทม.20 คน

16 กุมภาพันธ์ 2562

รองหัวหน้าปชป. มั่นใจปักธงพื้นที่ กทม. สส.เดิมติดพื้นที่ ผนึก NewDem ได้ไม่ต่ำกว่า 20 คน

รองหัวหน้าปชป. มั่นใจปักธงพื้นที่ กทม. สส.เดิมติดพื้นที่ ผนึก NewDem ได้ไม่ต่ำกว่า 20 คน

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค กล่าวถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะปักธงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เท่าที่ประเมินพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส. 20 คนขึ้นไป โดยเชื่อว่า ส.ส.เดิมจะรักษาพื้นที่ไว้ได้ เพราะเขาอยู่กับประชาชน อยู่ติดกับพื้นที่เลือกตั้งมาตลอด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนทำงานมาตลอด ไม่เคยปล่อยพื้นที่เลย อีกทั้งพรรคยังส่งผู้สมัครหน้าใหม่ที่คิดว่าก็มีการคัดมา นำคนที่มีความตั้งใจเข้ามา ก็มีโอกาสสูงที่น่าจะนำชัยชนะมาให้กับพรรคได้ในเขตเดิมที่เราไม่มี ส.ส. เช่น เขตสายไหม-มีนบุรี รวมถึงเขตเลือกตั้งเดิมที่พรรคเคยมี ส.ส. แต่ได้นำผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม New Dem เข้ามาแทนในอีก 3 เขต ที่เป็นเขตซึ่งน่าจะมีโอกาส ทำให้โดยภาพรวมเชื่อว่าไม่เกินความจริงคือ 20 คนขึ้นไป

ส่วนกรณีที่มีบางพรรคใช้วิธีส่งคนลงสมัครแบบแยกเขต แยกพรรค ที่มองเป็นการฮั้วกันนั้น รองหัวพรรคประชาธิปัตย์มองว่า สุดแล้วแต่ว่าพรรคไหนจะมีแนวทางเป็นอย่างไร เราจะไม่ไปดิสเครดิตหรือไปกังวลใจกับใคร แต่เราจะมองที่พรรคเราเป็นหลักว่าเราจะทำงานให้ประชาชนได้อย่างไร นั่นคือเหตุผลที่เราได้ทุ่มเททำงานในพื้นที่มาตลอด 5 ปีเต็ม โดยทุกคนก็จะเดินหน้านำเสนอผลงาน แนวคิดทางนโยบายพบปะประชาชน แล้วก็เชื่อว่าด้วยงานที่ทำและความใกล้ชิดที่มีต่อประชาชน ก็น่าจะเพียงพอในการได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน อย่างไรก็ตามยอมรับว่า คนกรุงเทพฯ มีความหลากหลาย เพราะมาจากคนหลายกลุ่ม อาจจะทำให้คะแนนเสียงถูกแบ่งออกไปบ้าง เพราะในพรรคเองก็มีอดีต ส.ก.ที่ย้ายพรรคไปเขาก็ต้องมีคะแนนติดไปบ้างไม่มากก็น้อย แม้จะไม่ถึงกับชนะ ปชป.ได้ก็ตาม แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ก็มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มใหม่เข้ามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีจำนวนเยอะมาก แต่หลักๆ ผมก็คิดว่าเราก็น่าจะได้คะแนนไม่น้อยจากคนรุ่นใหม่ เพราะชุดนโยบายของพรรค ก็มีนโยบายที่ออกมาต่างหากจากกลุ่มรุ่นใหม่ของ ปชป.ที่มาจากกลุ่ม New Dem อีกทั้งคนในกลุ่มนี้ก็มีส่วนร่วมโดยตรงในการร่างนโยบายพรรค จึงทำให้ชุดนโยบายของ ปชป.มีความทันสมัยมากกว่าหลายพรรค

"ยกตัวอย่างเรื่อง Gov Tech หรือ Government Technology ที่เป็นแนวคิดว่าในอนาคต การให้บริการประชาชนของภาครัฐต้องเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพ กลุ่มที่มีแนวคิดการใช้เทคโนโลยี มาเสนอแนวทางการบริการและการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ทางพรรคก็ให้กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในกลุ่มผู้ประกอบการสถานศึกษา สาธารณสุข เสนอแนวคิดของเขาตอบโจทย์ปัญหาที่เขาแก้ได้ โดยราชการแก้ไม่ได้ ก็มีคนสมัครมาเกือบ 100 แห่ง จนคัดเลือกเหลือจำนวนหนึ่งเพื่อบ่มเพาะเขาเพื่อว่าหากอนาคตเราเข้าไปเป็นรัฐบาล จะได้เข้ามานำเสนอการให้บริการกับภาครัฐ เช่น การให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยี ที่สุดท้ายประชาชนก็จะได้ประโยชน์ และเป็นการกระจายอำนาจ ลดบทบาทของรัฐ ที่เป็นชุดความคิดที่ทันสมัย ไม่ใช่ชุดความคิดของพรรคอนุรักษนิยมสุดโต่งอย่างที่เป็นวาทกรรมของบางกลุ่มพยายามยัดใส่ให้พรรค ปชป. เพราะพรรคอนุรักษนิยมคิดแบบนี้ไม่ได้ และ ปชป.ไม่ได้แค่คิดอย่างเดียว แต่ทำแล้ว มีพรรคไหนมีความก้าวหน้าแบบนี้อย่างพรรค ปชป. ผมก็อยากรู้เหมือนกัน" ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว