posttoday

เครือข่ายประชาชนยื่นสนช. 4ข้อเสนอ แก้ ร่างกม.หวย

10 มกราคม 2562

เครือข่ายภาคประชาชน ร้อง สนช. ยื่น 4 ข้อเสนอ แก้ไขร่างพ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

เครือข่ายภาคประชาชน  ร้อง สนช. ยื่น 4 ข้อเสนอ แก้ไขร่างพ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่รัฐสภา เครือข่ายภาคประชาชน  อาทิ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก, เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่พนัน, เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ยื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำเสนอความเห็นให้ปรับปรุงต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่...) พ.ศ....  ซึ่ง สนช. เตรียมพิจารณาวาระแรกในวันที่ 10 มกราคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาชน คือ ต้องการสร้างความถ่วงดุลในการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการออกสลากฯ ผ่านรูปแบบเดิม คือให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง แทนการให้อำนาจตามร่างกฎหมายใหม่ ที่กำหนดให้ บอร์ดสำนักงานสลากฯ เป็นผู้พิจารณารวมถึงกำหนดการออกสลากรูปแบบใหม่ได้ในอนาคต  อีกทั้งในกรณีพิจารณาออกสลากรูปแบบใหม่ เสนอให้เปิดช่องให้เฉพาะการศึกษาและพิจารณารวมถึงรับฟังความเห็น แทนการให้สิทธิพิจารณาออกสลากรูปแบบใหม่ได้

นอกจากนั้นในประเด็นแก้ปัญหาขายสลากเกินราคา ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดให้ หักค่าบริหารจัดการจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่จากการบังคับใช้ดังกล่าว กว่า 3 ปี ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับใหม่ควรกลับไปใช้บทบัญญัติเดิม คือ หักค่าบริหารจัดการ 12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อรัฐไม่เสียประโยชน์ ขณะนี้การเพิ่มโทษผู้ขายสลากเกินราคา ควรบังคับใช้ให้ได้จริง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับสลากเพื่อขายต่อ และข้อเรียกร้องสำคัญ คือ ให้ร่างกฎหมายดังกล่าว บัญญัติเนื้อหาว่าด้วยกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม เพื่อให้นำรายได้จากการขายสลาก สนับสนุนการแก้ปัญหาการพนันในสังคม

ขณะที่นายสุรชัย กล่าวว่า ตนจะรับเนื้อหาจากภาคประชาชนให้กับที่ประชุมพิจารณา ทั้งนี้ยอมรับว่าจากการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลและตัวแทนสนช. มีข้อกังวลในหลายประเด็น โดยเฉพาะการเปิดช่องให้ออกสลากกินแบ่งพิเศษรูปแบบออนไลน์ ที่ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีเป็นคดีความ ดังนั้นในชั้นกรรมาธิการฯ จะพิจารณาให้รอบคอบ และอาจเชิญตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย

"ข้อกังวลที่ภาคสังคมห่วงนั้น สนช. พยายามจะพิจารณาร่างกฎหมายให้รอบคอบ แต่การตัดสินใจในการเขียนบทบัญญัติยอมรับว่าขึ้นอยู่กับชั้นกรรมาธิการฯ สำหรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนยอมรับว่านำเสนอช้าไปหน่อย แต่ตนพยายามจะคัดสำเนาเอกสารแจกให้ที่ประชุมสนช. ใช้ประกอบการพิจารณาในวาระแรกด้วย" นายสุรชัย กล่าว