posttoday

กกต.คาดออกระเบียบหาเสียงเลือกตั้งได้ก่อนช่วงปีใหม่

19 ธันวาคม 2561

กกต.เปิดรับฟังความเห็นพรรคการเมืองยังไม่ได้บทสรุปหาเสียงเลือกตั้ง คาดเสร็จกระบวนการทั้งหมดก่อนปีใหม่

กกต.เปิดรับฟังความเห็นพรรคการเมืองยังไม่ได้บทสรุปหาเสียงเลือกตั้ง คาดเสร็จกระบวนการทั้งหมดก่อนปีใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ เปิดเผยภายหลผลการประชุมหารือระหว่าง กกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ว่า เบื้องต้นยังเป็นเพียงการรับฟังความเห็นของทุกพรรคการเมือง ซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณา กกต. อีกครั้ง เพื่อออกเป็นระเบียบปฏิบัติ โดยคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนช่วงปีใหม่

ทั้งนี้ ประเด็นหารือมีทั้งเรื่องการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตั้งแต่คนละ 2 แสนบาท ไปจนถึง 2 ล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองนั้น มีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ซึ่ง กกต. จะนำความเห็นที่ได้รับไปประมวล และสรุปต่อไป โดยจะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

สำหรับการหาเสียงด้วยรถแห่ขยายเสียง หรือ โมบายยูนิต ทางกกต.จะนำประเด็นเรื่องการติดป้ายหาเสียงผ่านรถโดยสารสาธารณะว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ส่วนการกำหนดขนาดป้ายหาเสียงนั้น ยืนยันว่า ได้มีการกำหนดขนาดแผ่นป้ายมาตรฐาน กระดาษ A3 ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ซึ่งป้ายหาเสียง จะสามารถมีรูปถ่ายของใครได้บ้างนั้น มีการพรรคการเมืองเสนอให้มี สส. บัญชีรายชื่อ ที่เป็นที่รู้จักของพรรค หัวหน้าพรรค และบุคคลสำคัญของพรรค

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าในป้ายควรจะเป็นผู้สมัครสส.ในเขตนั้นเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนจะมีภาพบุคคลอื่นในป้ายจะทำได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า บุคคลนั้นเป็นสมาชิกพรรคเป็นหลัก

ส่วนจำนวนป้ายนั้น พรรคการเมืองมีความเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นว่าจำนวนที่กกต.กำหนดไว้มีเหมาะสมแล้ว หรือ มีการเสนอให้ลดจำนวนป้ายหาเสียงลง รวมถึงให้เพิ่มจำนวนป้าย เนื่องจากมีการแบ่งเขตใหม่ จากเดิมมีเขต 375 เขต ปรับมาเป็น 350 เขต จึงต้องพิจารณาว่าจะติดป้ายประกาศหาเสียงอย่างไรให้เพียงพอกับขนาดเขตเลือกตั้งที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการกำหนดสถานที่ปิดประกาศป้ายหาเสียง ซึ่งกกต.มีการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

สำหรับการหาเสียงผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ กกต.มีความเห็นว่า หากมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยหาเสียงสามารถทำได้ เพราะถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสีสันในการหาเสียงในครั้งนี้

ส่วนกรณีหาเสียงทางโซเชียลมีเดีย ที่ผู้สมัครต้องแจ้งให้ กกต. ทราบก่อนนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการขออนุญาต แต่แจ้งให้ทราบถึงวิธีการให้การหาเสียงว่าจะใช้รูปแบบใด อย่างไร เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือการกล่าวร้ายป้ายสีผ่านทางโซเชียล

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองต้องการให้ กกต. ตั้งวอร์รูม ขึ้นมาติดตามและตรวจสอบ การแสดงความคิดเห็น และ แอคเค้าท์ปลอมที่อาจจะสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตี ฝ่ายตรงข้าม รวมทั่งยังเป็นช่องทางที่ให้พรรคการเมืองสามารถแจ้งมายังกกต.ได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งวอร์รูมจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำหน้าที่ร่วมกับกกต.ด้วย

ประธาน กกต. กล่าวถึง การเปิดให้มีผู้สังเกตการณ์ การเลือกตั้งจากต่างจากชาติเข้ามาสังเกตการเลือกตั้งในประเทศนั้น ตามที่รมว.ต่างประเทศเห็นว่าไม่มีความจำเป็นนั้น โดยในส่วนของกกต.จะใช้แนวทางปฏิบัติตั้งแต่ปี 2546 จึงไม่มีความจำเป็นต้องยุติผู้สังเกตุการณ์เลือกตั้ง เพราะไม่มีอะไรเสียหาย ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฏหมายของประเทศไทย แต่หากมีมากมายกว่านั้นก็ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

ทั้งนี้ ยอมรับว่า กกต.ยังเหลือระเบียบอยู่ในวาระพอจารณาอีก 8 ฉบับ โดยยืนยันว่าการจัดทำระเบียบนั้นไม่มีผลให้ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออก เพราะหน้าที่ของกกต.นั้น ต้องทำงานให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายระบุไว้