posttoday

ภท.แนะไทยควรแก้กฎหมายประมูล5จีให้เสร็จก่อนปี62

18 ธันวาคม 2561

ภูมิใจไทยแนะไทยควรแก้กฎหมายประมูล5จีให้เสร็จก่อนปี62 เพื่อพาชาติทันยุค4.0

ภูมิใจไทยแนะไทยควรแก้กฎหมายประมูล5จีให้เสร็จก่อนปี62 เพื่อพาชาติทันยุค4.0

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย และอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทข.) กล่าวในงานสัมมนาวารสารวิชาการ หรือ NBTC Journal 2018 เรื่อง “5G นำไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0” ว่า ตนเองในฐานะที่อยู่ในทีมยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของพรรค และมีประสบการโดยตรงในด้านนี้ คิดว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ 5G เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ ต่างจากการเปลี่ยนแปลงจากยุค 1G, 2G, 3G และ 4G ซึ่งระบบ 5G ไม่เพียงแต่ทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น แต่จะทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์และสิ่งของต่างๆ รอบตัวได้ จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดจนทำให้มนุษย์สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติและเรียลไทม์มากขึ้น ซึ่งประเทศที่สามารถสร้างเครือข่าย 5G และใช้ประโยชน์จากมันได้ก่อน ก็จะกลายเป็นประเทศที่ก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ได้เร็วกว่าประเทศอื่น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G อย่างเร่งด่วนให้สำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2562 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการเริ่มขยายโครงข่ายระบบ 5G กันแล้ว ซึ่งอาจจะทำให้ประเทศไทยตกขบวน และไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ เนื่องจากหากยังมีการประมูลคลื่นในรูปแบบเดิมที่จะทำให้ราคาคลื่น 5G สูงมากแบบไร้เหตุผลในการทำธุรกิจ และจะทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมประมูล 5G เลย ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยโดยทีมยุทธศาสตร์ดิจิทัล เรามีแนวคิดด้าน “ดิจิทัลเวิลด์” ที่ได้เตรียมเรื่องการแก้ไขกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G ไว้แล้ว

“ทั่วโลกจะเริ่มปูพรหม 5G ตั้งแต่ปี 2019 จะทำให้เกิดบริษัทเล็กๆ แต่ชาญฉลาด และมีพนักงาน คนรุ่นใหม่โดยมีการเชื่อมต่อตลอดเวลาอย่างเรียลไทม์ม จนเกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ให้บริการดีกว่า ถูกกว่า เร็วกว่า ดังนั้น นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศควรที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะใหม่ ของแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีได้อย่างเท่าทัน ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธและหยุดยั้งความก้าวหน้าของมันได้”โฆษกพรรค ระบุ

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดคำถาม เช่น คนทำงานในโรงงานและพนักงานออฟฟิศที่มีทักษะที่เหมาะสมกับตลาดแรงงานนั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพการจ้างงานที่มาพร้อมกับคำว่า ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0 แล้วหรือยัง ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาทักษะของทรัพยากรมนุษย์รูปแบบใดที่ประเทศต่างๆ ควรนำมาใช้ในการพัฒนาแรงงานในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นความท้าทายของผู้นำและผู้บริหารในวันนี้ ดังนั้นเราจึงต้องการผู้นำและผู้บริหารที่เห็นอนาคต และเตรียมการเพื่ออนาคตได้อย่างชัดเจน