posttoday

เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง "จำลอง-สนธิ-พธม." ไม่ผิดชุมนุมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

18 ธันวาคม 2561

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน “จำลอง-สนธิ-พธม.-สมณะโพธิรักษ์” ไม่ผิด พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ปมเขาพระวิหาร

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน “จำลอง-สนธิ-พธม.-สมณะโพธิรักษ์” ไม่ผิด พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ปมเขาพระวิหาร

เมื่้อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.นครไชยศรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.607/2548 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง , นายสนธิ ลิ้มทองกุล , นายประพันธ์ คูณมี , นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ , สมณะโพธิรักษ์ , นายสุริยะใส กตะศิลา , นายเทิดภูมิ ใจดี , นายพิภพ ธงไชย , นายรัชต์ยุตม์ หรืออมร ศิรโยธินภักดี , นายทศพล แก้วทิมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) , กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติและเครือข่ายประชาชนปกป้องแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 1- 10 ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้า หรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ หรือสถานที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

โดยอัยการยื่นฟ้องคดี เมื่อวันที่ 10 มี.ค.58 สืบเนื่องกรณีเมื่อวันที่ 9-19 ก.พ.54 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรลงวันที่ 8 ก.พ.54 และข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ออกตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 18 มีผลบังคับใช้ จำเลยทั้ง 10 คนกับพวกร่วมกันเข้าไป และไม่ออกจากบริเวณเส้นทางถนนพิษณุโลกระหว่างแยกพาณิชยการพระนคร (ด้าน ถ.พระราม 5) ถึงแยกสวนมิสกวัน และเส้นทาง ถ.ราชดำเนินนอกระหว่างแยกสวนมิสกวันถึงแยกมัฆวาน เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แล้วจำเลยทั้งสิบกับพวกปิดการจราจรบริเวณถนนและแยกดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ปกติ นอกจากนี้ยังสร้างเวทีปราศรัยถาวรบน ถ.พิษณุโลก บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ลึกเข้าไปในผิวจราจร โดยใช้ชื่อ “ เครือข่ายประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ ” กับตั้งเวทีปราศรัยถาวรบนถนนราชดำเนินนอกบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจำเลยทั้งสิบเป็นแกนนำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาล กรณีความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา โดยจำเลยทั้งสิบกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต กทม.

ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธสู้คดี โดยระหว่างการพิจารณาจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวไป และวันนี้ทุกคนก็เดินทางมาฟังคำพิพากษาอุทธรณ์  ส่วน “นายสนธิ” อดีตแกนนำ พธม. ที่ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำคลองเปรมคดีความผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถูกเบิกตัวมาฟังคำพิพากษาด้วยโดยมีสีหน้าสดใส แต่ร่างกายค่อยข้างผอมกว่าเดิม ขณะที่กลุ่มแกนนำเมื่อเจอหน้ากันก็พุดคุยทักทายกันด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งมาร่วมลุ้นฟังผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 20-30 คน

โดยคดีนี้ศาลแขวงดุสิต ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค.60 ให้ยกฟ้องทั้งหมด เนื่องจากการออกประกาศพื้นที่ห้ามบุคคลเข้า-ออก บริเวณถนนราชดำเนิน ดุสิต และพื้นที่ใกล้เคียงรอบทำเนียบไม่มีสภาพใช้เป็นกฎหมาย เพราะได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ และมีผลบังคับใช้หลังจากการชุมนุม ต่อมาอัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปลายเดือน ธ.ค.53 “สมณะโพธิรักษ์” จำเลยที่ 5 และนายทศพล จำเลยที่ 10 เข้าร่วมกับกลุ่มประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ชุมนุมกันที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ต่อมาวันที่ 25 ม.ค.54 จำเลยที่ 1-4 และ 6-9เข้าร่วมกับกลุ่มรวมพลังปกป้องแผ่นดิน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยทั้งสองกลุ่มมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเรื่อยมา ซึ่งมีการยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือคนไทย 7 คน ที่ถูกจับกุมบริเวณชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา แล้วถูกดำเนินคดีที่ประเทศกัมพูชาพร้อมทั้งให้รัฐบาลถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทวงคืนดินแดนที่สูญเสีย 4.6 ตารางกิโลเมตร หากไม่ดำเนินการกลุ่มผู้ชุมนุมจะยกระดับการชุมนุมเข้ายึดสถานที่ราชการ ซึ่งต่อมาวันที่ 8 ก.พ.54 ครม.ได้อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน มาตรา 15 ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยกำหนดให้พื้นที่เขตพระนคร,เขตป้อมปราบ,เขตดุสิต,เขตปทุมวัน,เขตวังทองหลาง,เขตวัฒนาและเขตราชเทวี กทม.เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงฯ พร้อมให้จัดทำแผนดำเนินการในการกำกับ ติดตามและเร่งรัดหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้ดำเนินการตามแผนที่กำหนด โดยให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 -23 ก.พ.54 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ซึ่งในวันเดียวกันนั้นนายอภิสิทธิ์ นายกฯในฐานะผอ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ออกข้อกำหนด ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาตรา 18 จากความเห็นชอบของ ครม.ซึ่งข้อกำหนดนั้นได้เพิ่มให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ผอ.การรักษาความมั่นคงฯ และห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากพื้นที่ , ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหะสถาน , ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ , ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ และกำหนดให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9-23 ก.พ.54

เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง "จำลอง-สนธิ-พธม." ไม่ผิดชุมนุมสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

นอกจากนี้ในวันที่ 9 ก.พ.54 นายกฯ ยังอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 16 (2) ,17 ออกคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ 45/2554 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยและมอบหมายให้ ผบ.ตร.เป็นผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย และโดยให้มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย ซึ่งคำสั่งการจัดตั้งศูนย์อำนวยการฯดังกล่าวได้ลงประกาศราชกิจจาฯ วันที่ 17 ก.พ.54 ซึ่งในวันเดียวกันนั้น พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ขณะนั้นที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผอ.ศูนย์รักษาความสงบฯ ได้ออกประกาศศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 1/2554  ระบุพื้นที่ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้า-ให้ออกจากอาคารทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา รวมทั้งบริเวณถ.พิษณุโลก ตั้งแต่แยกพาณิชยการพระนคร (ด้าน ถ.พระราม 5) ถึงแยกสวนมิสกวัน และเส้นทาง ถ.ราชดำเนินนอก ช่องทางคู่ขนานด้านทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่แยกสวนมิสกวันถึงแยกมัฆวาน โดยประกาศฉบับดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.54

คดีจึงต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้ง 10 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าการออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ เป็นการออกตามมติ ครม.และตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าประกาศนั้นมีสภาพบังคับเป็นกฎหมาย ส่วนข้อกำหนดของ นายกฯ ในฐานะ ผอ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้ออก ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ มาตรา 18 นั้นก็มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายเช่นกัน

ส่วนคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงฯ ที่ 45/2554 เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่ออกโดยนายกฯ ในฐานะ ผอ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นั้นแม้จะมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายแต่ก็จะมีผลบังคับเมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว ซึ่งทางนำสืบของโจทก์รับฟังได้ว่า คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงฯ ที่ 45/2554 ได้ลงประกาศราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.54 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 18 ก.พ.54 ดังนั้นคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงฯ ที่เกิดก่อนในวันดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย รวมทั้งการกระทำของ ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้ออกประกาศ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ฉบับที่ 1/2554 เรื่องห้ามบุคคลเข้า หรือออกจากบริเวณพื้นที่อาคารหรือสถานที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 อันเป็นการประกาศเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุมทราบถึงพื้นที่ควบคุมในเขตพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหมายเพราะได้กระทำก่อนที่คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงฯที่ 45/2554 จะมีผลบังคับใช้และเป็นการประกาศที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้ง 10 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้นเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน

ภายหลัง นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของอดีตแกนนำฯ กล่าวว่า กรณีเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติชุมนุมดังกล่าวนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 รัฐบาลประกาศว่าบริเวณที่ชุมนุมเป็นพื้นที่กระทบต่อความมั่นคง ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9-23 ก.พ.54 แต่ภายหลังก็ออกประกาศห้ามเข้าเส้นทางการจราจรต่างๆ รอบทำเนียบรัฐบาล แต่รัฐบาลเขาไม่ได้ประกาศมาตั้งแต่แรกโดยเพิ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มี.ค.54 ดังนั้นเมื่อศาลพิจารณาข้อกฎหมายแล้วเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบ จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายและพิพากษายืนยกฟ้อง ส่วนอัยการจะฎีกาหรือไม่นั้นตามกฎหมายใหม่ ถ้าคดีใดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาตรงกัน ต้องห้ามฎีกาเว้นแต่ได้รับรองอนุญาตให้ฎีกาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา จึงเชื่อว่าอัยการคงไม่ยื่นฎีกา แต่ทุกคนพร้อมสู้คดีอยู่แล้ว

ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษก พธม. กล่าวว่า เป็นเทคนิคข้อกฎหมาย เพราะว่าคดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่โดยหลักการข้อกฎหมายมีอยู่ว่า การประกาศใช้กฎหมายใดแล้ว จะเอาผิดย้อนหลังนั้นไม่สามารถทำได้ ซึ่งเราก็ต่อสู้ประเด็นนี้มาตลอดตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ดังนั้นจึงชัดเจนว่าการชุมนุมเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติไม่เป็นความผิด เพราะกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด ก็ต้องนับหนึ่งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป