posttoday

นายกฯดัน"บึงกาฬ-หนองคาย"ศูนย์กลางการลงทุนเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

14 ธันวาคม 2561

นายกฯเผยประชุมครม.นอกสถานที่"บึงกาฬ-หนองคาย"เน้นพัฒนา3เรื่อง"ประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน-วิถีลุ่มน้ำโขง-ศูนย์กลางการลงทุน"

นายกฯเผยประชุมครม.นอกสถานที่"บึงกาฬ-หนองคาย"เน้นพัฒนา3เรื่อง"ประตูเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน-วิถีลุ่มน้ำโขง-ศูนย์กลางการลงทุน"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการศาสตร์พระราชสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า ช่วงวันที่ 12 – 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางไปตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดหนองคายได้กำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ตอนบน 1”นี้ว่า “เกษตรอุตสาหกรรมชั้นนำ การค้าและการท่องเที่ยวสากล ชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน”ที่เรามีจุดเน้นการพัฒนา ได้แก่

(1) การเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

(2) แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง

และ (3) การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีโครงการ “ตัวอย่าง” ที่น่าสนใจ ได้แก่

1. โครงการบูรณาการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลประชาชน  โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เป็นบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐาน อาทิ หน่วยทันตกรรม หน่วยวัดสายตา หน่วยสุขภาพจิต หน่วยแนะนำและฝึกอาชีพ รวมทั้งบริการอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่ โดยกำหนดเปิดตัวโครงการที่จังหวัดบึงกาฬเป็นพื้นที่แรกของประเทศ และเริ่มต้นดำเนินการในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ถึง 3 ของเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เพื่อเป็นการอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนอีกด้วย

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารา ราว 850,000 ไร่ มากเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของที่นี่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นศูนย์กลางยางพาราด้านต่างๆ อาทิศูนย์กลางการเรียนรู้วิชาการยางพาราที่ครบวงจร ตั้งแต่คุณภาพยางพารา การจัดการวัตถุดิบ การแปรรูป การตลาด และการขนส่ง ศูนย์กลางการซื้อขายและแปรรูปยางพารา โดยมีตลาดกลางประมูลยางพารากระจายอยู่ทุกอำเภอ รวมเกือบ 100 แห่ง และมีโรงงานรับซื้อและแปรรูปยางพารา ด้วย นอกจากนี้ยังมีศูนย์กลางการส่งออกยางพารา โดยผลผลิตยางพารา จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทางท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศจีนตอนใต้

สำหรับจังหวัดหนองคาย มีโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่...

1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากระบบประปา เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำของประชาชนและสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอ และต้องเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้าด้วย  จึงได้กำหนดแผนงานปรับปรุงระบบน้ำดิบ ระบบการผลิต และระบบส่ง-จ่ายน้ำ ภายใต้โครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย – สระใคร ที่สถานีผลิตน้ำปะโค อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 1,000 ลบ.ม. ต่อชั่วโมง ให้สามารถรองรับความต้องการในพื้นที่ในอีก10 ปีข้างหน้า

2.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือ OTOP โดยในปี 2561 นี้ จังหวัดหนองคาย สามารถพัฒนาสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่เป็นอาหาร เครื่องดื่ม ผ้าพื้นเมือง เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของประดับตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวนมากกว่า 1,200 ผลิตภัณฑ์ สามารถยกระดับให้เป็นสินค้าที่เป็นดาวเด่นสู่สากล (เกรดA) นะครับ จำนวน 23 ผลิตภัณฑ์ ที่น่าภาคภูมิใจได้แก่ สุดยอด 3 ผลิตภัณฑ์ คือ ผ้าทอมัดหมี่ลายพญานาค, “แหนมเนือง” ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ และ “ข้าวฮางงอก” ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักและสงสัยว่ามันคืออะไร? ทั้งๆ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคอีสานมานานนับร้อยปี เป็นข้าวที่เพาะงอกจากข้าวเปลือก มีไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ จากเปลือกมาเคลือบในเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีสารอาหารมากกว่าข้าวกล้องงอก เชื่อกันว่าการกิน “ข้าวฮางงอก” จึงเปรียบได้กับการรับประทานยา วิตามิน หรือสมุนไพรเข้าไปพร้อมๆ กัน นอกจากจะอิ่มท้องแล้วยังทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรค จึงเหมาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้รักสุขภาพ หรือผู้ป่วย เนื่องจากเป็นอาหารต้านโรคด้วย ที่น่ายินดี ก็คือ วันนี้ผมเห็นวางขายทั้งตามร้านค้า ห้าง และออนไลน์แล้วมากมาย

และ3.การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมืองหนองคาย เป็น 1 ใน 40 ชุมชน ของจังหวัด ที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการ“ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี”  ด้วยทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำโขง ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นอาทิ วิถีริมโขง ปลานิลกระชัง แปลงผักแบบขั้นบันไดริมโขง การอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรม โบราณสถาน  ศิลปะ ดนตรี และการละเล่นพื้นบ้าน รวมถึงการจัดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว อาทิ ล่องเรือยนต์ชมฝั่งโขง  ทำกระทงดอกไม้บูชาพระพังโคน  ทำนกใบลาน การแปรรูปอาหาร และที่พักในชุมชนแบบ Home stay ซึ่งผมก็มั่นใจว่า ถ้าใครได้มาสัมผัสแล้ว จะต้องประทับใจ ไม่มีวันลืม ต้องอยากกลับมาใหม่ หรือบอกต่อ หรือชวนใครต่อใครให้มาค้นหา ความแปลกใหม่ ที่แตกต่าง และมีเอกลักษณ์ประจำถิ่นเป็น “จุดขาย” ที่ดี

การลงพื้นที่ทุกครั้งให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่ใช่เพียงการติดตามการดำเนินงานของข้าราชการ และกลไก “ประชารัฐ” ในพื้นที่เท่านั้น แต่ได้ร่วมกับพี่น้องประชาชนปลูกต้นไม้ – ปลูกป่าแล้วก็ต้องลงไปช่วยพี่น้องประชาชน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย เพื่อดูแลให้ “ต้นไม้”ของเรา เติบโต งดงาม และผลิดอกออกผลที่สมบูรณ์ด้วยและเห็นว่า เราทุกคนนั้นต้องมีส่วนร่วม ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ เพราะทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราไม่ดูแลชุมชนของเรา บ้านเมืองของเรา หรือถ้ารัฐจะทำอะไรไม่ไถ่ถามประชาชน ไม่ใส่ความต้องการของประชาชน ก็คงจะต้องเป็นหลุมพรางที่ยากจะถึงจุดหมาย ก็คือ “มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน”แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจำเป็นต้องเคารพในกฎหมาย กฎกติกา ต่างๆ ด้วย