posttoday

ปลดล็อกการเมือง บิ๊กตู่เจอของจริง

13 ธันวาคม 2561

เส้นทางนับจากนี้จึงเป็นหนทางที่ยากลำบากของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ไม่มีตัวช่วยเหมือนที่ผ่านมา

ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

เริ่มต้นยกแรกกับการหาเสียงอย่างเป็นทางการภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีผลใช้บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. สอดรับกับการเริ่มต้นขยับของแต่ละพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม จากคำชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า นับจากนี้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้ทุกอย่าง สามารถลงพื้นที่พบปะประชาชนได้ แต่การหาเสียงจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งออกมา

“พูดง่ายๆ วันนี้คุณจะขึ้นป้ายคัตเอาต์อะไรก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ก็ต้องเอาลง ตอนนี้ทำกิจกรรมทุกอย่างได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น เรื่องการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความสงบเรียบร้อย”​

นั่นทำให้ช่วงเวลานี้ถือเป็นนาทีทองที่แต่ละพรรคจำเป็นจะต้องรีบตักตวงคะแนนนิยมให้ได้มากที่สุด หลังจากที่ถูกแช่แข็งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมานานกว่า 4 ปี โดยเฉพาะต้องรีบแข่งกับเวลาที่เหลืออยู่ไม่มากกับกรอบวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562

ประเด็นที่กำลังถูกจับจ้องเวลานี้หนีไม่พ้นความสับสนวุ่นวายหลังการปลดล็อก ที่จะเกิดขึ้นจากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่ได้รับอิสระให้เคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่ แม้จะยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหลายก็ตาม

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเพราะหากทุกอย่างต้องเดินไปตามโรดแมปสู่การเลือกตั้ง การปลดล็อกที่รัฐบาล และ คสช. พยายามยื้อไว้ให้ได้นานที่สุดนั้น สุดท้ายก็ต้องเกิดขึ้น แม้รู้อยู่แล้วว่าแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมส่งผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ยิ่งในวันนี้ที่ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นหนึ่งในแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีตามบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเงื่อนงำการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจนมากขึ้น

การเปลี่ยนสถานะจากกรรมการที่มีอำนาจพิเศษในมือลงมาเป็นผู้เล่น นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ภายใต้กฎ กติกา เช่นเดียวกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่สำคัญในฐานะที่จะเป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ย่อมต้องถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้แบบมีเหตุมีผล

นับจากนี้จึงน่าจะเริ่มเห็นนักการเมืองจำนวนไม่น้อยเรียงหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเป้าไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ผลงานการบริหารงานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา เรื่อยไปจนถึงนโยบายลดแลกแจกแถมที่ว่ากันว่าเป็นนโยบายประชานิยมไม่แพ้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังจะเริ่มเห็นจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้วยการแจกเงิน 500 บาท ที่กำลังเป็นเป้าถูกถล่มว่า ใช้เงินภาษีของประชาชนไปเพื่อเรียกคะแนนนิยมหวังผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมไปถึงกับบรรดาแพ็กเกจที่ออกมาก่อนหน้านี้

ต่างจากก่อนหน้านี้ซึ่งรัฐบาล คสช. มีคำสั่ง คสช. เป็นเกราะคุ้มครอง ทั้งในแง่ป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์ สามารถเข้าไปสกัดการเคลื่อนไหวชุมนุม จับกลุ่มรวมตัว ไปจนถึงงานสัมมนาวิชาการ จนลดแรงเสียดทานที่จะมาถึงรัฐบาลและ คสช.ได้เป็นอย่างมาก

กระบวนการปิดปากคนเห็นต่างจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เหลือเพียงแค่การจะต้องใช้กลไกการสื่อสารที่มีอยู่ไปชี้แจง ทำความเข้าใจในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์  ยิ่งบุคลิกความเป็นทหารที่ติดตัวมาแต่แรกจนทำให้การสื่อสารดูจะดุดัน ดุเดือดจนอาจจะเป็นจุดอ่อนฉุดให้คะแนนนิยมลดลง ยิ่งในวันที่ถูกรุมถล่ม

ต่อเนื่องไปจนถึงการวางตัวที่มีความสุ่มเสี่ยงในสถานะอันซ้ำซ้อนระหว่างนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กับอีกสถานะที่เป็นแคนดิเดต นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งจะทำให้การลงพื้นที่ การออกนโยบาย การช่วยเหลือประชาชนต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นเรื่องของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปหาเสียง

เมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 29 กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้ใด ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

รวมทั้งมาตรา 28 กำหนดว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นที่มิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระทั้งนี้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม”

นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้นเพราะทุกฝีก้าวจะต้องถูกจับจ้องและนำไปสู่การร้องเรียนต่อไปในอนาคต เพราะความผิดของทั้งสองมาตรานี้มีโทษถึงขั้นยุบพรรค

แม้แต่การใช้อำนาจพิเศษในมือ ซึ่งรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ใช้ได้เรื่่อยไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เพื่อประคับประคองสถานการณ์แต่ในทางปฏิบัติก็ยากจะใช้อำนาจพร่ำเพรื่อเหมือนที่ผ่านมา เพราะสุ่มเสี่ยงจะถูกร้องเรียนว่ามีผลประโยชน์ สุ่มเสี่ยงจะถูกร้องเรียนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน

เส้นทางนับจากนี้จึงเป็นหนทางที่ยากลำบากของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ไม่มีตัวช่วยเหมือนที่ผ่านมา